กทม.ขอเวลา 4 สัปดาห์คุมโควิด-19 ให้ได้ สั่งปิดรร.ในสังกัด-ตรวจหาเชื้อในตลาด-ไซต์งานก่อสร้าง

23 ธันวาคม 2563, 17:09น.


         ผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กรุงเทพมหานคร ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้มีคณบดีโรงเรียนแพทย์หลายแห่งร่วมประชุมด้วย และแนะนำว่า กทม.มีเวลา 4 สัปดาห์ในการควบคุมโรคโควิด-19 ว่าเราจะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ เนื่องจาก 75 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 88 ที่มีการระบาดซ้ำและรุนแรงกว่าเดิม หากเราควบคุมได้ใน 4 สัปดาห์ ทิศทางการระบาดจะเปลี่ยนไป




ที่ประชุม ศบค. กทม. มีมติ



1.ปิดโรงเรียนในสังกัดกทม. 437 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 292 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2563 จนถึงวันที่ 3 ม.ค.2564  



2.หน่วยงานราชการในสังกัด กทม.ทั้งหมด ยกเว้นหน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชน ให้ทำงานที่บ้าน รวม 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2563 จะกลับมาทำงานอีกครั้งหลังปีใหม่



3.ขอความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ไม่จัดกิจกรรมปีใหม่ หรือการจัดกิจกรรมที่จะมีการรวมตัวกัน หน่วยงานของกทม.มีมติไม่จัดงานแล้ว แต่ถ้าหน่วยงานไหนจะจัดงานจริงๆและถ้ามีคนมากกว่า 300 คน ต้องขออนุญาตจากสำนักอนามัย กทม.และถ้าจำนวนคนมากเกินไปหรือคุมสถานการณ์ไม่ได้ ก็จะไม่อนุญาตให้จัด แต่ถ้าประชาชนจะจัดกันเองในครอบครัวหรือรวมญาติ สามารถทำได้แต่ต้องปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข



4.กทม.พยายามที่จะดำเนินการคัดกรองและระมัดระวังสถานที่เสี่ยงต่างๆที่พบว่าแรงงานต่างชาตินิยมไปรวมตัวกัน เช่น สวนสาธารณะ ตลาด และ ศาสนาสถาน จึงมีการยกระดับไม่ไห้มีการรวมตัวกัน นอกจากนี้จะมีการลงพื้นที่ไปตรวจหาเชื้อในสถานที่ต่างๆเพิ่มเติม  เช่น



-ตลาด ในกทม.มีตลาดกว่า 400 แห่ง ตอนนี้ตรวจไปแล้ว 100 กว่าแห่ง ใช้กระบวนการตรวจหาเชื้อRT-PCR วันนี้คณบดีโรงเรียนแพทย์ แนะนำให้ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อทางน้ำลายแทนการตรวจทางโพรงจมูก วิธีการตรวจ เช่น นำคนมารวมกันและตรวจพร้อมกัน และเมื่อพบคนในกลุ่มติดเชื้อจะแยกนำมาตรวจแบบRT-PCR



-ไซต์งานก่อสร้าง มีทั้งหมด17,000 ตัวอย่าง การตรวจเมื่อระบาดรอบแรกไม่พบเชื้อ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องมาตรวจกันใหม่  



-โรงงานใกล้พื้นที่ จ.สมุทรสาคร เช่น เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน วันนี้มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจแล้ว



          ส่วนไทม์ไลน์ คนติดเชื้อในกทม. ส่วนใหญ่มีประวัติเกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้งในพื้นที่จ.สมุทรสาคร น่าจะจำกัดวงในการควบคุมได้ กทม.พยายามที่จะลดกิจกรรมที่ไม่มีการสัมผัสกัน หรือรวมกลุ่มกันถ้าทำได้และหากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะลดมาตรการลง แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง โฆษกกทม. ยืนยันว่า มาตรการล็อกดาวน์จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด



แฟ้มภาพ จากกรุงเทพมหานคร




 

ข่าวทั้งหมด

X