โรคมะเร็งเต้านม ถือว่าเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดในหญิงไทย และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ แต่หากตรวจพบได้เร็ว ก็จะสามารถรักษาได้เร็ว
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)จึงจัดทำโครงการ "70 ปี การท่าเรือฯ มอบรถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมี" เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 70 ปี การท่าเรือฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 17 โครงการที่การท่าเรือฯ ดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม สานต่อพระราชปณิธานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือฯ ได้มอบเงินเพื่อสนับสนุนการจัดหารถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง (Mammogram) ชนิดสองมิติ ให้แก่ มูลนิธิกาญจนบารมี จำนวน 1 คัน ในวงเงินจำนวน 33 ล้านบาท ภายในรถจะประกอบด้วย เครื่องตรวจเต้านมด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง พร้อมจอวินิจฉัยภาพความละเอียดประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้ภาพเอ็กซเรย์เต้านมที่เห็นโครงสร้างผิดปกติได้อย่างชัดเจน และใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการช่วยหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อเต้านมอัตโนมัติ ถือเป็นการร่วมสนับสนุนภารกิจของมูลนิธิกาญจนบารมี ในการตรวจคัดกรองเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงและผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาโรคมะเร็งเต้านมให้กับประชาชน
ด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การตรวจหาความผิดปกติในเนื้อเยื่อเต้านมแบบแมมโมแกรม (Mammogram) หรือการตรวจทางรังสีคล้ายการเอ็กซเรย์ เป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการคลำด้วยมือ ซึ่งยิ่งตรวจพบความผิดปกติได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากเท่านั้น และรถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกในการเดินทาง เพราะรถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่สามารถออกให้บริการได้ทุกสถานที่ พร้อมขอบคุณการท่าเรือฯ ที่มีโครงการดีๆ เพื่อสังคม
...