กรมประมง เตรียมจัดหาสะพานปลาชั่วคราว ช่วยขนถ่ายสินค้าประมง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ 22 ธ.ค. 2563 4 กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข จะประชุมประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ก่อนจะกำหนดมาตรการร่วมกัน
ผลการประชุมร่วมกันระหว่างนายพจน์ กับกรมประมง เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร มีข้อสรุปว่า
-กรมประมง จะจัดหาท่าเรือสำรอง ให้ใช้ชั่วคราว เพื่อให้สามารถขนถ่ายสินค้าอาหารทะเล หลังจากที่สะพานปลามหาชัย ปิดดำเนินการชั่วคราว
-ความกังวลว่าจะขาดแคลนแรงงานจนทำให้ขาดแคลนสินค้าชั่วคราว นายพจน์ ยืนยันว่า บริษัทและโรงงานอาหารแช่เยือกแข็ง ซึ่งเป็นสมาชิกยังเปิดดำเนินการตามปกติไม่มีการปิดจากสาเหตุของโควิด-19 จะมีปิดบ้างจากสาเหตุปัญหาการขาดวัตถุดิบ และจากปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า กระทบการส่งออก
-การให้ข้อเท็จจริงกับผู้บริโภคว่า โรคโควิด-19 ไม่ใช่โรคที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนแต่เป็นโรคที่แพร่จากคนสู่คน ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารทะเลได้ปกติไม่ต้องกังวล ส่วนการควบคุมการระบาดในส่วนของคนสู่คน กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการอยู่แล้ว สำหรับสาเหตุที่เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงในรอบนี้ เชื่อมโยงกับกรณีแรงงานผิดกฎหมายที่มหาชัย
ด้านนายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ทำหนังสือมาถึงสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ของดอนุญาตนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากเมียนมาแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ขณะที่ชมรมผู้ขายปลาสมุทรสาคร ได้รับแจ้งจากชมรมผู้ประกอบการแพปลาสมุทรสาคร ไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากเมียนมา เข้ามาจำหน่ายด้วย
โควิด-19 สมุทรสาคร กระทบเศรษฐกิจในพื้นที่วันละ1,000 ล้าน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร แหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ทำให้ภาคการผลิต การส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบประมาณวันละ 1,000 ล้านบาท จากเม็ดเงินลงทุนจังหวัดสมุทรสาคร 300,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งปิดโรงงานที่อยู่ในสมุทรสาคร 1 แห่ง เป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากมีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 แล้วจำนวน 1 คน จากจำนวนโรงงานที่ตั้งอยู่ในสมุทรสาครกว่า 6,000 แห่ง ยืนยันว่า โรงงานทั้งหมดกว่า 6,000 แห่ง ไม่มีการใช้แรงงานนอกระบบ เนื่องจากโรงงานทั้งหมดเป็นนิติบุคคล สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนิติบุคคล เช่น สิทธิลดหย่อนจากประกันสังคม หากใช้แรงงานนอกระบบ และหากตรวจพบภายหลังจะถือว่ามีความผิด มีโทษปรับ 200,000 บาทต่อคน
การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศ สะท้อนความหละหลวมของมาตรการรัฐบาล ทำให้มีขบวนการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหยุดขบวนการนี้
ส.อ.ท.เห็นด้วยกับแนวทางจัดโควตานำเข้าแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาในระบบการจ้างงาน เพื่อง่ายในการตรวจสอบย้อนกลับเรื่องต่างๆ ทั้งประวัติบุคคล ด้านสาธารณสุข ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายนอกระบบ แต่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านการแพทย์ในการตรวจสอบโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อสกัดการลุกลามของเชื้อไม่ให้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง
นักลงทุนเทขายหุ้นไทย! ปิดตลาดร่วง 80.60 จุด
ดัชนีหุ้นไทย ปิดตลาดช่วงบ่าย อยู่ที่ 1,401.78 จุด ลดลง 80.60 จุด หรือร้อยละ 5.44 มูลค่าการซื้อขาย 129,340 ล้านบาท นักลงทุนกังวลกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาคร และมีการแพร่เชื้อกระจายไปในหลายจังหวัดต่อเนื่อง แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะพยายามติดตามควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น แต่นักลงทุนก็ยังกังวลว่าการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ จะกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างอ่อนแอมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นไทยจำนวนมาก และคาดว่าตลาดหุ้นไทยทั้งสัปดาห์จะมีความผันผวนต่อเนื่อง
การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ นักลงทุนกังวลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด -19 ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ญี่ปุ่น ปิดที่ 26,714.42 จุด ลดลง 48.97 จุด เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวการพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในอังกฤษ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 3 ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นในขณะนี้
ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปิดที่ 6,669.90 จุด ลดลง 5.60 จุด หลังจากที่ ออสเตรเลียสั่งยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศที่มีกำหนดออกเดินทางจากเมืองซิดนีย์ในวันนี้นับสิบเที่ยวบิน เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ก่อนที่จะถึงเทศกาลคริสต์มาส
ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดวันนี้ที่ 26,306.68 จุด ลดลง 191.92 จุด หลังจากคาดว่ารัฐบาลฮ่องกงอาจมีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวและสั่งปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่างๆ
กทม.ประกาศมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เน้น 4 สถานที่
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน พ.ศ.2558
1.ให้สถานที่ดังต่อไปนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค
1.1 ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด
1.2 สวนสาธารณะ
1.3 วัด มัสยิด หรือสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา
1.4 สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
2. ให้เจ้าของ ผู้จัดการสถานที่หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมใดๆ ทางธุรกิจการคมนาคม มหรสพ สนามกีฬา ที่สาธารณะ หรือแหล่งอื่นๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัสและแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้ร่วมกิจกรรมนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
2.1 ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ
2.2 ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
2.3 อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด
2.4 จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
2.5 จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทำกิจกรรมด้วย
2.6 ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชั่นที่ทางราชการกำหนด
3. การจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมคนในพื้นที่ตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป ต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงาน
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2563 ถึงวันที่ 14 ม.ค.2564 หรือจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง
เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ 2 รายใหม่ใน กทม.
วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่ม 2 คน รวมผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ จำนวน 4 คน เพจเฟซบุ๊ก ของ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง Earth Pongsakorn Kwanmuang โฆษกกทม. เปิดเผย ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยทั้ง 2 คนว่ามีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง
1.ผู้ป่วยคนที่ 3 เป็นผู้ชาย อายุ 43 ปี เป็นลูกจ้างขายอาหารทะเลที่แพกุ้ง ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร มาขายอาหารทุกวัน ตั้งแต่เวลา 4.00 – 09.00 น.
-วันที่ 5-11 ธ.ค. 2563 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากบ้านไปทำงานที่แพกุ้ง ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาครตั้งแต่เวลา 04.00 น. – 09.00 น. ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ เมื่อทำงานเสร็จจะกลับบ้านซึ่งอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่ง เขตบางขุนเทียน โดยมีภรรยาเป็นคนทำอาหารให้รับประทาน
-วันที่ 12 ธ.ค. 2563 ผู้ป่วยทราบข่าวมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร จึงได้แยกตัวออกไปพักที่บ้านเช่าอีกแห่งหนึ่งที่เขตบางขุนเทียน พักอาศัยอยู่เพียงคนเดียว ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอื่น และซื้ออาหารเข้ามารับประทานในที่พักเป็นประจำ
-วันที่ 13-17 ธ.ค. 2563 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปทำงานค้าขายที่แพกุ้ง ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยทำงานทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.00 น. – 09.00 น. ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ เมื่อทำงานเสร็จก็ขับรถยนต์ส่วนตัวกลับไปที่ห้องเช่า โดยแวะซื้ออาหารกลับไปรับประทานคนเดียวที่ห้องเช่า
-วันที่ 18 ธ.ค. 2563 เดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจแบบ Drive-Thru จากนั้นผู้ป่วยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกลับไปที่ห้องเช่า และไม่ได้ออกไปไหน
-วันที่ 19 ธ.ค. 2563 ผู้ป่วยได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งว่ามีผลพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขอให้ผู้ป่วยเดินทางไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อขอตรวจยืนยันอีกครั้ง โดยผู้ป่วยเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ทั้งผู้ป่วยและคนขับรถสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ผู้ป่วย Admit เพื่อรอผล ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ
-วันที่ 20 ธ.ค. 2563 ผลการตรวจ Detected จากโรงพยาบาลรามาธิบดี
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 คน ซึ่งเป็นคนในครอบครัวของผู้ติดเชื้อแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 1 คน ที่เป็นคนขับรถแท็กซี่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลรามาธิบดี ในวันที่ 19 ธ.ค. 2563 รวมทั้ง ได้ทำความสะอาดที่พักอาศัยของผู้ป่วยแล้ว
2.ผู้ป่วยคนที่ 4 เป็นหญิง อายุ 42 ปี อาชีพค้าขาย พึ่งได้รับผลยืนยัน จึงอยู่ระหว่างสอบสวนโรค รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
CR:เฟซบุ๊ก Earth Pongsakorn Kwanmuang
กทม.ปูพรมตรวจตลาด 472 แห่ง เร่งทำให้เสร็จ 1 สัปดาห์
พล.ต.อ.อัศวิน ตรวจมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ของตลาด อตก. มีแผงค้าทั้งหมด 608 แผง มีผู้ค้า 290 คน มีแรงงานต่างด้าวจำนวน 120 คน กทม.และกรมควบคุมโรคติดต่อ ได้ร่วมกันจัดเจ้าหน้าที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19 รวมทั้งทำการ Swab แรงงานต่างด้าวทั้งหมด 120 คน เพื่อตรวจหาเชื้อ
ในกทม.มีตลาด 472 แห่ง วันนี้ กทม. ได้ปูพรมทยอยออกตรวจตลาดแล้วจำนวน 56 แห่ง และจะตรวจอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะตรวจแล้วเสร็จครบทุกตลาดภายใน 1 สัปดาห์ และจะตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าวตามบ้านพักคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ
CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
รอผลตรวจโควิด-19 ชาวเมียนมา จากสมุทรสาคร มาทำงานเย็บผ้าย่านสายไหม
นายอมฤต สุวรรณทิพย์ ผู้อำนวยการเขตสายไหม กล่าวถึง กรณี เพจ Survive Saimai - สายไหมต้องรอด เปิดเผยคลิปวิดีโอ พบแรงงานชาวเมียนมา 4 คน เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร โดยแอบลักลอบเข้ามาทำงานในซอยธาราทิพย์ 10 เขตพื้นที่สายไหม ว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สังวาลย์ทัสนารมย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ชุมชนธาราทิพย์พัฒนา ถนนพหลโยธิน 54/1 เขตสายไหม พบว่า มีแรงงานเมียนมาประมาณ 5-6 คน เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร เพื่อเข้ามาเย็บผ้าในซอยดังกล่าวจริง โดยแรงงานกลุ่มดังกล่าวมีใบอนุญาตทำงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมาทำงานเย็บผ้าที่จ.สมุทรสาคร เมื่องานหมดจึงเดินทางเข้ามาทำงานเย็บผ้าในชุมชนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2563 ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานเมียนมากลุ่มดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อ 2-3 วัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือสังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน และเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส ให้เข้ารับการตรวจเพื่อหาเชื้อโรคโควิด-19 ทันที
ชป.เร่งระบายน้ำท่วมขังต่อเนื่อง เตรียมรับพายุลูกใหม่
กรมชลประทาน พร้อมรับมือพายุลูกใหม่ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในช่วงวันที่ 24-25 ธ.ค.2563 เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังอย่างต่อเนื่อง หวังลดปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ว่าจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน กรอวาญ (พายุระดับ 3) คาดว่า จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ในช่วงวันที่ 23-24 ธ.ค. 2563 จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักไปจนถึงต้นเดือนม.ค. 2564 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้อีก สั่งการให้ทุกโครงการชลประทาน เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมืออุทกภัยอย่างเคร่งครัด มีการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำจุดเสี่ยง และสำรองไว้ให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ปรับแผนการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ส่วนพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น ช่วยลดและบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน
ส่วนสถานการณ์น้ำในภาพรวม มีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ
-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 48,126 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 24,039 ล้าน ลบ.ม.
-ปริมาณน้ำเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,138 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,442 ล้าน ลบ.ม.
-ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 965 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของแผนฯ สำหรับลุ่มเจ้าพระยา ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก พร้อมคุมเข้มแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 63/64 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากน้ำต้นทุนฤดูแล้งนี้มีน้อยไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ ต้องสำรองน้ำไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก
-ส่วนนาปี 2563 ที่บางส่วนปลูกล่าช้า พื้นที่กว่า 800,000 ไร่ จะช่วยเหลือจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงาน สำหรับปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมหรือทดแทนที่ไม่สามารถทำการเกษตรในหน้าแล้งนี้ได้