สธ.เร่งคัดกรองโควิดเชิงรุก 7 ชุมชน และแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่าง ๆ

20 ธันวาคม 2563, 19:41น.


          กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีสมุทรสาคร รวม 689 คน จุดตั้งต้นอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง โดยพบที่นครปฐม 2 คน, กทม. 2 คน และสมุทรปราการ 3 คน เร่งคัดกรองเชิงรุกใน 7 ชุมชนอีก 10,000 คน รวมถึงชุมชนแรงงานต่างด้าวจังหวัดต่างๆ หากผู้ติดเชื้อสมุทรสาครไม่เพิ่มขึ้นมาก คาดควบคุมโรคได้ใน 2-4 สัปดาห์ แนะประชาชนกลับมาจากตลาดกลางกุ้ง รายงานตัวเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประเมินความเสี่ยง รับคำแนะนำ



          นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 จ.สมุทรสาคร เริ่มต้นจากวันที่ 17 ธันวาคม 2563 พบการติดเชื้อของผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 67 ปี ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นผู้นำเชื้อหรือต้นเชื้อคนแรก ทีมสอบสวนโรคได้ค้นหาสาเหตุของการติดเชื้อ และสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับแรงงานเมียนมา ผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่พบว่า มีการติดเชื้อจำนวนมากและส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงประกาศควบคุมโรค โดยล็อกดาวน์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง คือ บริเวณตลาดกลางกุ้งและแหล่งระบาด ส่วนพื้นที่อื่นภายใน จ.สมุทรสาคร ก็ควบคุมไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้าออกพื้นที่ ทำให้การแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่จำกัด



          ส่วนผู้ที่มาซื้อขายในตลาดแล้วออกไปสู่จังหวัดอื่นสามารถติดตามได้ ซึ่งการควบคุมตรวจจับได้รวดเร็ว ทำให้สามารถสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสและควบคุมเฝ้าระวังอาการได้ หากตัวเลขในสมุทรสาครเริ่มนิ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่มาตรการสำคัญ คือการสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่เข้าสถานที่แออัด หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้สวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์



           สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข จะมีการค้นหา ตีวง เฝ้าระวัง สื่อสาร และสร้างความร่วมมือ โดย



1. ค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวจังหวัดอื่น เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ส่วนประชาชน จ.สมุทรสาคร และคนที่ออกมาจาก จ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยให้ไปรับการตรวจสถานพยาบาลใกล้บ้าน



2.เฝ้าระวังตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจและปอดอักเสบทุกราย



3. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมรับการระบาด ขณะนี้มียาและเวชภัณฑ์เพียงพอ โดยมียาฟาวิพิราเวียร์ 552,811 เม็ด รักษาได้ประมาณ 8 พันราย หน้ากากอนามัย 46 ล้านชิ้น ใช้ได้ 3-4 เดือน ผลิตได้วันละ 4 ล้านชิ้น หน้ากาก N 95 2.9 ล้านชิ้น ชุด PPE 2 ล้านกว่าชุด ผลิตเพิ่มได้วันละ 6 หมื่นชุด



4.จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทุกจังหวัดหรือโทร.ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422



5. กำหนดผู้รับผิดชอบของทุกจังหวัด และตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เพื่อดูแลการระบาด



6.ตรวจสอบ ยกระดับการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลทุกแห่ง สำหรับเทศกาลปีใหม่จะจัดงานได้หรือไม่นั้น จะมีการประเมินสถานการณ์ภายใน 1 สัปดาห์



           นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 กรณี จ.สมุทรสาคร จุดตั้งต้นอยู่ที่ตลาดกุ้ง และมีผู้ป่วยขยายวงใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่น คือ นครปฐม 2 คน กทม. 2 คน สมุทรปราการ 3 คน แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับตลาดกุ้งทั้งหมด  ผู้ป่วยสะสมขณะนี้อยู่ที่ 689 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มาตรวจในโรงพยาบาลและค้นหาผู้สัมผัส 32 คน และการค้นหาในชุมชน 657 คนจากการส่งตรวจทั้งหมด 1,443 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่ตลาดกลางกุ้งและหอพัก ขณะนี้ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว ซึ่งตรวจไปแล้วมากกว่า 2,000 คน และกำลังตรวจเพิ่มอีก 2,000 คน



          ทั้งนี้ การสอบสวนโรคผู้ป่วยหญิงอายุ 33 ปี เขตคลองสามวา กทม. พบว่า วันที่ 12 ธันวาคม มีประวัติไปรับซื้ออาหารทะเลที่ตลาดกลางกุ้งมาขายที่ตลาดนวลจันทร์ เวลา 16.00 - 20.00 น. โดยซื้อกุ้งกับผู้ป่วยหญิงอายุ 67 ปี วันที่ 14 ธันวาคม เริ่มมีอาการจาม น้ำมูก ไม่ได้ไปขายของที่ตลาด วันที่ 16-17 ธันวาคม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น วันที่ 18 ธันวาคม ไปตรวจที่โรงพยาบาลสินแพทย์ ผลพบเชื้อ วันที่ 19 ธันวาคม เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ คัดกรองผู้สัมผัสในครอบครัวพบ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย





          สำหรับผู้ที่เคยไปยังพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง ขอแนะนำให้มาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อประเมินความเสี่ยง และรับคำแนะนำ จะกักตัวเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือ ถูกผู้ติดเชื้อไอจามรด พูดคุยกับผู้ติดเชื้อระยะห่างไม่เกิน 1 เมตรนานเกิน 5 นาที โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ใส่หน้ากาก หากไม่ได้เป็นสัมผัสเสี่ยงสูงจะแนะนำให้สังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ก็ให้มาตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนกรณีอาหารทะเลยืนยันว่ารับประทานได้ โดยเน้นสุกร้อน ส่วนที่ต่างประเทศเคยตรวจพบเชื้อโควิดในปลาแซลมอนหรืออาหารทะเลบางประเภท เป็นการพบสารพันธุกรรมในอาหาร แปลว่ามีการปนเปื้อน ไม่ได้แปลว่าเชื้อบนอาหารจะสามารถถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจะทำให้ติดเชื้อและถ่ายทอดเชื้อได้



          นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 ได้ตั้ง EOC ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด และมีการระดมบุคลากรจาก 8 จังหวัดมาสนับสนุน จ.สมุทรสาครในการตรวจคัดกรองเชิงรุก ตั้งเป้าหมาย 10,000 ราย ใน 7 ชุมชนภายใน 3 วัน โดยมีรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน 7 คัน นอกจากนี้ ได้สำรองเตียงพร้อมรับผู้ป่วย 1,083 เตียง ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีกรมการแพทย์เป็นศูนย์บริหารจัดการเตียง ร่วมกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครและเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในหอพัก พร้อมจัดหน่วยปฐมพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลใกล้ชิด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แจกหน้ากากอนามัย หากมีอาการป่วยจะส่งต่อรับการรักษาในโรงพยาบาลตามระบบ และมีสถานกักกันโรค (Local Quarantine) รับได้ 600 คน และประสานหน่วยงานอื่น ๆ เตรียมสถานที่เพิ่มมีหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ป้องกัน และยารักษาโรค พร้อมใช้ได้ 3- 4 เดือน



 



********************************* 

ข่าวทั้งหมด

X