พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ทุจริตในโครงการคนละครึ่ง ล่าสุด ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดแล้ว 1 คดี มีผู้ต้องหา 4 คน รวมทั้งกำลังเร่งขยายผลไปยังคดีอื่นๆ โดยมีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เป็นผู้ดูแลคดี
สำหรับผู้ต้องหา 4 คน ที่ถูกดำเนินคดีเป็นกลุ่มแรก มีพฤติกรรม คือ เจ้ามือหรือคนกลาง ใช้เฟซบุ๊กอวตาร หรือเฟซบุ๊กปลอม โพสต์หาลูกค้า โดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมขบวนการคือ ร้านสมปองขายของชำ ที่จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าของร้านได้มอบยูสเซอร์ พาสเวิร์ด และOTP ของร้านไปให้เจ้ามือ จากนั้นชักชวนประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่งมาร่วมขบวนการด้วย โดยให้มอบยูสเซอร์ พาสเวิร์ด และรหัส OTP ของประชาชนให้กับเจ้ามือ ซึ่งเจ้ามือจะทำหน้าที่เป็นทั้งร้านค้าและเป็นประชาชนที่มีสิทธิ ยิงสแกนบาร์โค้ดแอปฯถุงเงินและเป๋าตังค์ เสมือนว่ามีการซื้อขายสินค้ากัน แต่ไม่มีการส่งมอบสินค้ากันจริง ซึ่งจากการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน พบความผิดปกติ คือ ผู้ใช้สิทธิมีภูมิลำเนาอยู่คนละจังหวัดกับร้านค้าที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร เช่น บางคนอยู่สงขลา บุรีรัมย์ เชียงใหม่ เป็นต้น โดยเมื่อยิงบาร์โค้ดทำทีเป็นซื้อขายสินค้าแล้ว รัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีร้านค้าแล้ว ร้านค้าจะเก็บส่วนแบ่งของตัวเองไว้ 30 บาท โอนส่วนที่เหลือให้เจ้ามือ เจ้ามือจะโอนเงินส่วนแบ่งต่อให้ประชาชน 90 บาท และเจ้ามือได้รับส่วนแบ่งที่เหลือ 30 บาท
เมื่อพบพฤติกรรมผิดปกติทางธุรกรรมทางการเงิน เจ้าหน้าที่จึงสืบสวน กระทั่งวันที่ 9 ธ.ค.63 เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) รวมทั้งตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารกรุงไทย เข้าตรวจค้นร้านค้าที่ชื่อสมปองขายของชำ ยึดโทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง แทปเล็ต 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง และบัญชีต้องสงสัย 6 บัญชี เป็นของกลางในคดี
ในส่วนของการดำเนินคดี ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งหมด 4 คน คือ นางกนกภรณ์ เจ้าของเฟซบุ๊กอวตาร ทำหน้าที่เป็นคนโฆษณาและติดต่อร้านค้ามาร่วมขบวนการ , นายจีรพจน์ ทำหน้าที่เป็นเจ้าของบัญชีรับโอนเงินไปให้ประชาชน , นางสมปอง เจ้าของร้านสมปองขายของชำ และนายสรัล ลูกชายเจ้าของร้าน ในส่วนของประชาชนผู้ใช้สิทธิคนละครึ่งที่ร่วมทุจริต ทางพนักงานสอบสวนลงพื้นที่ไปสอบปากคำแล้ว 14 ปาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ หลังจากนี้จะออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา เพราะถือว่ากระทำผิดร่วมกัน นอกจากนี้ จากหลักฐานและเบาะแสที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารกรุงไทยมอบให้ตำรวจ สามารถตรวจสอบพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายถึง 700 ราย เช่น การร่วมกันทุจริตระหว่างผู้ใช้สิทธิกับร้านค้า โดยร้านค้าเปิดรับแลกเงินสด โอนเงินส่วนแบ่งให้ประชาชนที่มีสิทธิคนละครึ่งโดยตรง ไม่มีการซื้อสินค้ากันจริง เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อ พร้อมเตือนว่า การทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ทุกครั้งจะมีร่องรอยที่ติดตามได้ หรือ Digital Footprint เจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนจากร่องรอยดังกล่าวได้แน่นอน
.jpg)



พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และเป็นคดีสำคัญที่ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำชับให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขณะนี้กำลังตั้งคณะทำงานกลาง ที่รวบรวมเจ้าหน้าที่และพนักงานสอบสวนจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศร่วมทำคดี เนื่องจากพบการทุจริตกระจายหลายพื้นที่ ส่วนข้อหามีทั้งฉ้อโกง อัตราโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือข้อหาฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หากกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ความผิดก็จะบวกโทษเข้าไปอีก
ส่วนกรณีการทุจริตในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ขณะนี้พบหลักฐานและจะดำเนินคดีกับ 2 กลุ่มแล้ว โดยตำรวจกองปราบปรามและตำรวจท่องเที่ยว กำลังลงพื้นที่รวบรวมหลักฐาน คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า และยังไม่เปิดเผยรายละเอียด เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดไหวตัวทัน
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ระงับการจ่ายเงินในแอปฯ ถุงเงินและระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าที่กระทำผิดแล้ว พร้อมกับส่งข้อมูลของผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิด ซึ่งได้จากธนาคารกรุงไทย ให้กับตำรวจดำเนินคดีแล้ว และหลังจากนี้จะไปหารือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อหาวิธีป้องกันการทุจริตเพิ่มเติม