ประวัติผู้ป่วยวัย 67 ปี ที่สมุทรสาคร ไม่เคยเดินทางไปตปท.
การสืบสวนโรคเพื่อหาที่มาของการติดเชื้อ หลังจากเย็นวานนี้ จังหวัดสมุทรสาคร แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้หญิงเจ้าของแพปลาในตลาดกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร อายุ 67 ปี นพ.ชาติชาย กิตติยานันท์ นพ.สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่า เจ้าของแพปลามีอาการป่วยจึงไปตรวจที่โรงพยาบาลมหาชัย ผลตรวจติดเชื้อโควิด-19 จึงส่งตัวต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อกักตัว ผลตรวจ 2 ห้องปฏิบัติการยืนยันเป็นบวก สำหรับอาการของหญิงคนนี้ไม่รุนแรง ไม่มีไข้ เข้าข่ายผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง
ก่อนหน้านี้ จ.สมุทรสาคร เคยมีผู้ป่วยยืนยัน 18 คน และหลังจากไม่พบเชื้อมานานหลายเดือน ผู้ป่วยคนล่าสุดจึงถือเป็นผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ เนื่องจาก ไทม์ไลน์ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ และใช้ชีวิตประจำวันที่ตลาดกุ้ง บ้านของตัวเองและบ้านของแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ส่วนบริเวณตลาดกุ้งหยุดให้บริการ 1 วัน นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พ่นยาฆ่าเชื้อและฉีดน้ำล้างพื้นถนนและแพกุ้ง
ตลาดที่พบผู้ป่วยจะหยุดให้บริการจนครบ 3 วัน และทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทั้งหมด
(แฟ้มภาพ สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสาคร)
ผู้ป่วยหญิงติดโควิด-19 เริ่มมีอาการปวดเมื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น
เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดของผู้ป่วยหญิงคนดังกล่าว
-13 ธ.ค. 2563
เริ่มป่วยด้วยอาการปวดเมื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น
-16 ธ.ค. 2563
เวลา 18.00 น. เดินทางมารักษาที่แผนกผู้ป่วยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์เก็บตัวส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยกลับไปรอผลที่บ้าน
เวลา 22.00 น. ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19
-17 ธ.ค. 2563
เวลา 02.30 น. ติดตามผู้ป่วยมาแยกกักตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร
เวลา 08.00 น. ส่งตรวจยืนยันอีกครั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ผลพบเชื้อ
จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยขายของที่แพกุ้ง เวลา 06.00-11.00 น. ทุกวัน มีผู้สัมผัสใกล้ชิด 18 คน
-ลูกชายคนที่ 1 อายุ 39 ปี รอผลกักกันที่โรงพยาบาล
-ลูกจ้างชาวเมียนมาชาย 2 คน อายุ 40 ปี และ 48 ปี อยู่ระหว่างติดตามมาเก็บตัวอย่างและกักกัน
-บ้านหลังที่ 1 บ้านลูกชายคนที่ 2 อายุ 31 ปี และเพื่อนลูกชาย เป็นเพศหญิง อายุ 25 ปี ผลไม่พบเชื้อ กักกันที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร
-บ้านหลังที่ 2 บ้านแม่ของผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง อายุ 95 ปี น้องชายผู้ป่วย อายุ 57 ปี น้องสะใภ้ อายุ 57 ปี พี่สาวคนโต อายุ 73 ปี และแม่บ้านหญิงไป-กลับ อายุ 56 ปี อยู่ระหว่างรอผลและกักกันที่บ้าน
-บุคลากรทางการแพทย์ 8 คน ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ผลไม่พบเชื้อ
นอกจากนี้ ทำการสอบสวนโรค ค้นหา คัดกรอง และเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเพิ่มเติมในตลาดกุ้ง ได้แก่
-ผู้ค้า
-ผู้ซื้อ
-แรงงานในตลาดกุ้ง
-ลูกค้าที่มาซื้อของเป็นประจำ
-ผู้ที่ติดต่อกับผู้ป่วย
ต้องกลับมาเข้ม!ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ไม่สวมหน้ากากอนามัย
พ.ต.อ.พัฒน์ปกรณ์ ชั้นประเสริฐ รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร กล่าวว่า หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้มเรื่องมาตรการจับปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน โดยใช้มาตรการตามที่จังหวัดสมุทรสาครเคยประกาศใช้ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค คัดกรองผู้ที่พักอาศัยในตลาดกุ้งสมุทรสาคร
เย็นวานนี้ ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค สสจ.สมุทรสาคร, โรงพยาบาลสมุทรสาคร และ กรมควบคุมโรค (สำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 5 ราชบุรี กองระบาดวิทยา) ได้นำห้องตรวจปลอดเชื้อเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-19 ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองผู้ที่พักอาศัยอยู่ในตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขณะที่เข้าตรวจนั้นมีจำนวนกว่า 100 คน ส่วนที่เหลือได้แยกย้ายกันกลับห้องพักที่เช่าอยู่ที่อื่นไปแล้ว
เช้ามืดวันนี้ ทีมปฏิบัติการฯ ก็จะเข้าตรวจอีกครั้ง เพื่อตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานแต่เช้า และยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองโรค
ศบค.คงการกักตัวคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14วัน เช่นเดิม
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ย้ำเรื่องการปรับวันตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เข้ารับการกักตัวในสถานกักกันที่ทางราชการกำหนด (Quarantine) หลังจากที่มีการขอให้ลดจำนวนวันกักตัวลง แต่เนื่องจากข้อมูลตอนนี้ยังไม่ชัดเจนจึงคงให้กักตัวที่ 14 วันเช่นเดิม แต่จะมีการปรับการตรวจหาเชื้อเป็น 3 ครั้ง และรอดูผลก่อน
-จากเดิมที่มีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 วันที่ 1-3 และครั้งที่ 2 วันที่ 11-15 ของการกักตัว
-ทดลองเป็นการตรวจ 3 ครั้ง คือครั้งที่ 1 วันแรกที่เข้า ครั้งที่ 2 วันที่ 9-10 และครั้งที่ 3 วันที่ 13-14 ของการกักตัว
โฆษก ศบค. กล่าวว่า หากเราอยากลดจำนวนวันกักตัวเหลือ 10 วัน เราต้องดีไซน์การตรวจใหม่เป็นการตรวจ 3 ครั้ง คือวันแรกที่เข้า และวันที่ 9-10 ดักหัวกับท้าย จะเจอเชื้อวันที่ 5-8 ก็ไม่เป็นไร และตรวจอีกทีวันที่ 13-14 ของการกักตัว เพื่อจะได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ดำเนินไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค.2563 และจะประเมินผลและวิเคราะห์ในช่วงวันที่ 1-15 ม.ค. 2564 เพื่อนำข้อมูลชุดนี้ไปพิจารณาว่าจะสามารถปรับวันได้หรือไม่ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ
องค์การอนามัยโลก บันทึกคู่มือไทยคุมโควิด-19
นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ปาฐกถาพิเศษผ่านระบบออนไลน์ ว่า ขอชื่นชมประเทศไทยที่ผนึกกำลังทั้งภาครัฐและภาคสังคม รวมทั้งมีมาตรการรอบด้าน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ