การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 ในโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ยืนยันเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
วันนี้ (17 ธ.ค.63) เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมในโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การโยกย้ายและเยียวยาประชาชน



.jpg)
ทีมที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงสรุปแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ มลพิษทางเสียง คุณภาพน้ำ การคมนาคมระหว่างก่อสร้างที่พยายามให้ครอบคลุมในทุกด้าน และจะส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการก่อสร้างด้วย ส่วนการโยกย้ายเวนคืนและการเยียวยา วันนี้ประชาชนที่มาร่วมประชุม ได้แสดงความเป็นห่วงกังวลว่ากระบวนการเยียวยาจะล่าช้าและเหมาะสมหรือไม่ พร้อมทั้งรวมตัวกันยื่นหนังสือข้อเสนอแนะและความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการเยียวยา มอบให้ เรือโทเสนาะ พุทธาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนรับหนังสือไปพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งเรือโทเสนาะ ยืนยันว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว จะหาแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นที่พอใจให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เสร็จสิ้น จะส่งผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การโยกย้ายและเยียวยาประชาชน ให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นชอบต่อไป
.jpg)
.jpg)

.jpg)
สำหรับโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ทางเข้า-ออกเทอร์มินอล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ ออกแบบให้เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามคลองพระโขนงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ แล้วแยกเป็นเส้นทางเชื่อม ( Ramp) กับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ไปในทิศทางของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัช ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวม 2,480 ล้านบาท คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2568 เมื่อโครงการเสร็จสิ้น คาดว่า จะแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายถนนรอบท่าเรือกรุงเทพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของท่าเรือกรุงเทพ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการขนส่งสินค้าในอนาคต ช่วยอำนวยความสะดวกให้รถบรรทุกสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าของท่าเรือสามารถเชื่อมต่อกับทางพิเศษโดยตรง สอดคล้องกับแผนพัฒนาแม่บทท่าเรือกรุงเทพ