การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวซบเซาแล้ว การส่งออกก็ได้รับผลกระทบ เพราะมีกระบวนการที่ล่าช้าและต้นทุนสูงกว่าเดิม ซึ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกต่างประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

วันนี้ (14 ธ.ค.63) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ รวมทั้งประชุมร่วมกับผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้นเนื่องจากนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัทสายเรือลดการให้บริการ เพราะหลายประเทศชะลอการนำเข้าส่งออก และกระบวนการตรวจสอบเรือขนส่งสินค้านำเข้าเพิ่มขั้นตอนมากขึ้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรค จึงเกิดปัญหาตู้สินค้าตกค้างที่ประเทศปลายทางจำนวนมาก ประเทศไทยเองส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และยุโรป แต่กระบวนการนำตู้หมุนเวียนกลับมาต้องใช้เวลา 2-3 เดือน จากเดิมที่ใช้เวลาไม่ถึงเดือน ซึ่งผู้ประกอบการอยากให้เร่งแก้ปัญหา เพราะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน จะมีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้น เพื่อขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และยุโรปมากขึ้น
รวมทั้งยังมีปัญหาการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือ (Freight), ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charges) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปัญหาการจองพื้นที่จัดสรรระวางตู้สินค้าบนเรือไม่แน่นอน จองแล้วอาจถูกยกเลิก เนื่องจากพื้นที่เรือไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมาก
จากการหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการแก้ปัญหาตู้ขาดแคลน คือ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน หาทางนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้งาน และนำเข้าตู้เก่ามาซ่อมแซมเพื่อใช้งาน โดยจะมีมาตรการจูงใจด้วยการลดต้นทุนนำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่า นอกจากนี้ยังเตรียมหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตรขึ้นไป สามารถเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังได้ จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะเรือขนาด 300 เมตรเท่านั้น เพื่อให้สามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น และจะหาช่องทางส่งสินค้าแบบไม่ใช้ตู้สินค้าด้วย ด้านปัญหาจองตู้แล้วถูกยกเลิก ทางสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะเป็นผู้ดูแลเรื่องร้องเรียน และให้ผู้ประกอบการรายย่อย จองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ส่วนปัญหาค่าบริการต่างๆ การท่าเรือแห่งประเทศไทยกับภาคเอกชน จะหาลู่ทางปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการไปได้ 6 เดือน หรือจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาและจะเป็นภาระกับผู้ประกอบการเกินสมควร กรมการค้าภายในจะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เข้าไปกำกับดูแล และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารืออีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้
...