หมอธีระเตือนตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่า ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเพิ่มการป้องกัน

13 ธันวาคม 2563, 16:02น.


          รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว " Thira Woratanarat" ระบุว่า ถึงเวลาที่ทุกคนต้องป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ทั้งหน่วยงานรัฐ ธุรกิจห้างร้านและผู้ประกอบกิจการ ตลอดจนประชาชน ทั้งขอให้ผู้ที่กลับมาจากงานแสดงต่างๆ สังเกตอาการของตนเอง 2 สัปดาห์หากมีอาการป่วยขอให้รีบไปตรวจรักษา


          โดยในเฟซบุ๊กระบุว่า "ไทยเรามีจำนวนเคสเพิ่มแต่ละวันเป็นสองหลักอย่างต่อเนื่องถึง 15 วันแล้ว


เทียบสองสัปดาห์นี้ กับสองสัปดาห์ก่อนหน้า พบว่ามากขึ้นถึง 2.3 เท่า


เคสใหม่ที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้มาจากทั้งต่างประเทศและในประเทศรวมกัน ตามที่เราได้รับฟังข่าวสารมาตลอด และเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าถึงเวลาที่ต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด


แม้จะเป็นคำเตือนทางการแพทย์ ด้วยความปรารถนาดี ไม่อยากให้ติดเชื้อ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากไวรัสโรค COVID-19


แต่สัจธรรมที่เราเห็นคือ ก็จะมีปรากฏการณ์ "ลางเนื้อชอบลางยา"


ล่าสุดงานแสดงต่างๆ หลายงานก็แสดงให้เห็นปรากฏการณ์แออัด เบียดเสียด ไม่ใส่หน้ากาก ตะโกนตะเบ็ง เพียบพร้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อได้หากมีใครสักคนมีเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัว


แม้จะตามมาด้วยคำสั่งงดจัดงานในเวลาต่อมา แต่สอนบทเรียนให้เราหลายเรื่อง


หนึ่ง กฎมีไว้แหก 


สอง กฎระเบียบต่างๆ มีไว้เยอะแยะ แต่บังคับใช้ไม่ได้ 


สาม ปรากฏการณ์วัวหายล้อมคอกเกิดขึ้นเป็นประจำ โชคชะตาคนหมู่มากแขวนบนเส้นด้ายแห่งโชคชะตา รอลุ้นไปว่าจะระบาดหรือจะรอด


สี่ ระบบดีจริง แข็งแรง ปลอดภัย มั่นคง มั่นใจได้...ไม่ได้โม้ -->"ไม่มีอยู่จริง"


ถามว่าเมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง?


"หน่วยงานรัฐ" 


1. ยอมรับความจริงว่า สถานการณ์ปัจจุบันนั้นเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ


2. ลด ละ เลิก นโยบาย หรือมาตรการ ที่จะทำให้ระบบคัดกรองกักตัว 14 วันอ่อนแอลง


3. สถานการณ์ระบาดรุนแรงทั่วโลกตอนนี้ อย่ารนหาที่ ด้วยการหาเงินแลกความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกประเทศ แปลง่ายๆ ว่า อย่าปั่น GDP จากการล่าแต้มผ่านงานแออัดชนิดต่างๆ ภายในประเทศ และการหาเงินจากการเอานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ


4. กิจการเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ที่มีอยู่ในประเทศนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจตราตรวจสอบที่เคร่งครัดกว่าปัจจุบัน


5. จำเป็นต้องทำ Mock up ระบบการจัดแสดงชนิดต่างๆ โดยประเมินว่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำหรือไม่ หากเสี่ยง ต้องระงับตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ปล่อยให้จัด แล้วมาล้อมคอกภายหลัง


6. ถึงเวลาที่ควรจัดหากลไกที่จะรับเรื่องร้องเรียน และชดเชยค่าเสียหายของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากการไปร่วมงานหรือไปรับบริการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและสังคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเวลาเผชิญสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อตนเอง และเพื่อป้องปรามกิจการที่ไม่ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม 


"ธุรกิจห้างร้านและผู้ประกอบกิจการ"


1. แม้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมานานหลายเดือน และตอนนี้อยู่ในระยะผ่อนคลาย แต่ต้องระลึกเสมอว่า สถานการณ์ระบาดยังรุนแรงมาก ดังนั้นการประกอบกิจการจึงควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก หากรับไม่ไหว จัดการความเสี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรจัด จะจัดงานต้องรู้จักลิมิตตามขีดความสามารถจริง


2. ระลึกไว้ว่า หากเกิดเหตุขึ้นมา จะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ และก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล ดังนั้นควรประกอบกิจการแบบพอเพียง เพื่อให้ยืนระยะได้ยาวนาน ไม่หกคะมำหัวทิ่ม


"ประชาชน"


1. ใครๆ ก็อยากอิสระ อยากสบาย อยากสนุก...แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า อิสระ สบาย สนุก เพียงชั่วครู่ แต่อาจทำให้ป่วย ตาย หรือติดเชื้อแล้วแพร่ให้คนใกล้ชิดและสังคมหมู่มากได้ 


2. หากไปงานใด ที่มีความเสี่ยง เช่น แออัด คนไม่ใส่หน้ากากกันเยอะ ก็ควรประเมินให้ถ้วนถี่ว่าจะอยู่ต่อดีหรือควรตัดใจออกมาจากงาน...ยอมเสียเงินดีกว่าเสียชีวิต...   


สุดท้ายนี้ คนที่กลับมาจากงานแสดงต่างๆ ที่มีความเสี่ยง หากรักตัวเอง รักครอบครัว โปรดคอยสังเกตอาการของตนเอง 2 สัปดาห์ถัดจากนี้ ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย ก็ขอให้หยุดเรียน หยุดงาน แล้วรีบไปตรวจรักษา


ใส่หน้ากากเสมอ...ล้างมือบ่อยๆ...อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ด้วยนะครับ


ด้วยรักต่อทุกคน"


...
ข่าวทั้งหมด

X