คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมทางไกลเพื่อหารือประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ตามที่เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม เอสโตเนีย สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐโดมินิกัน ยื่นญัตติกล่าวหาว่าเกาหลีเหนือใช้สถานการณ์โควิด-19 จำกัดสิทธิมนุษยชนพลเมืองของตน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ รัสเซียและจีนได้คัดค้านการบรรยายสรุปสถานการณ์ต่อสาธารณะ แต่ในแถลงการณ์ของทั้ง 7 ประเทศระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เนื่องจากการเบี่ยงเบนทรัพยากรเพื่อประชาชนไปดำเนินโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ที่ผิดกฎหมาย
นักการทูตเกาหลีเหนือในสหประชาชาติ ที่นิวยอร์กยังไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ ครั้งนี้ แต่เกาหลีเหนือมีการปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง และโทษว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมในประเทศ
องค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch : HRW) เผยแพร่รายงานในเดือนตุลาคม ระบุว่าการทรมานเพื่อบังคับรับสารภาพ และความหิวโหยกลายเป็นลักษณะพื้นฐานของเกาหลีเหนือ โดยเกาหลีเหนืออยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากการดำเนินโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ ซึ่ง 7 ประเทศผู้ยื่นญัตติมีความเห็นว่า การที่รัฐบาลในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการอาวุธไว้เหนือความต้องการของประชาชน และการแยกตัวออกจากประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้สถานการณ์โรคระบาดในเกาหลีเหนือรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ระหว่างปี 2557 ถึง 2560 คณะมนตรีความมั่นคงฯได้จัดการประชุมสาธารณะประจำปีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ แต่ในปี 2561 คณะมนตรีความมั่นคงฯไม่ได้หารือเกี่ยวกับปัญหานี้ ทั้งการเจรจาสุดยอดระหว่างนายคิม จอง อึล ผู้นำเกาหลีเหนือ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯเพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังไม่มีความคืบหน้า และเมื่อปีที่แล้ว (2562) มี 8 ประเทศที่พยายามผลักดันให้มีการประชุมเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีเหนือเตือนว่าเป็นการยั่วยุที่ร้ายแรง และจะตอบโต้อย่างรุนแรง
....