แพทย์ศิริราชเตือนไทยรับมือ โควิด-19 ระบาดจากเมียนมา พบ 'G614' สายพันธุ์เดียวกับยุโรป

08 ธันวาคม 2563, 17:08น.


          ถอดบทเรียนการแพร่ระบาดโรคโควิด-19จากประเทศเมียนมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การระบาดของเมียนมาที่พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากครั้งแรกที่เจอผู้ป่วยโควิด-19ในเมียนมา วันที่ 23 มี.ค. มาถึง 6 ธ.ค.2563 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่า และแพร่กระจายไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะการตามสอบสวนโรคประชาชนที่เดินทางจากพื้นที่ระบาดทำได้น้อยกว่าร้อยละ 5  รวมทั้งสายพันธุ์ที่แพร่ในเมียนมาตอนนี้เป็นสายพันธุ์ G614  เป็นตัวเดียวกับที่พบแพร่ระบาดในประเทศแถบตะวันตกและทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเชื้อสามารถเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่าร้อยละ20 ทำให้แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมที่มาจากอู่ฮั่นD614



           ดังนั้นการที่มีคนไทยลักลอบกลับจากเมียนมาเข้ามาประเทศไทย และปกปิดข้อมูลจึงเป็นอันตรายกับตัวเอง คนในครอบครัว สังคม บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล สถานการณ์ไทยวันนี้ทำให้เห็นว่า จุดอ่อนแม้แต่จุดเดียว อาจส่งผลมหาศาลต่อประเทศและส่งผลกระทบเชิงลบให้กับสังคม จึงขอความร่วมมือคนไทยยกการ์ดขึ้นสูง ใช้วัคซีนที่เรามี คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ให้ความร่วมมือลงทะเบียนเข้า-ออกเมื่อใช้สถานที่ ช่วยกันแนะนำคนรู้จักให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อให้ป้องกันโควิด-19ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอวัคซีนที่ยังต้องใช้เวลาอีกนานไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้ใช้

          ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มี 3 ปัจจัยที่น่าห่วงขณะนี้ คือ



1.อากาศเย็นที่ทำให้คนอยู่ในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากมากขึ้น



2.ชายแดนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งเมียนมา มาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการระบาดได้ และ



3.การชุมนุมต่างๆ แต่อยากให้เข้าใจและย้ำเตือน เพราะไม่มีใครชนะหากเกิดการระบาดขึ้น จึงอยากขอให้หลีกเลี่ยง ในส่วนของโรงพยาบาลขณะนี้ทุกแห่งได้เตรียมการรับมือแล้ว แต่ก็หวังจะไม่เกิดการระบาดรุนแรง



          ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีน ล่าสุดบริษัทต่างๆ ที่ผลิตใน 2 ลอตแรกถูกจองหมดแล้ว สำหรับประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับแอสตราเซเนกา หากไทยได้รับข้อมูลองค์ความรู้มาเมื่อไหร่ ก็จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 4 เดือน และต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการอาหารและยาหรือ  อย.อีก 3 รอบ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ฉีดครั้งแรกหลังเดือน พ.ค. 2564



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X