มท.1 ปรับแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ถูกตัดขาด

05 ธันวาคม 2563, 10:31น.


          พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้พบว่าจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเข้าปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และวาตภัย ในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้และยังคงมีสถานการณ์ในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน ตลอดจนเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนและของรัฐเป็นอย่างมาก



          เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัยดำเนินการ 7 ด้าน ได้แก่



1) ปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ โดยหากประเมินสถานการณ์แล้วมีความรุนแรง ให้ระดมสรรพกำลังและบูรณาการกำลังพล อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรสาธารณภัย จากหน่วยราชการ หน่วยทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เป็นชุดปฏิบัติการ พร้อมแบ่งมอบพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนให้ชัดเจนและทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกตัดขาด ตลอดจนการดูแลพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ



2) ให้ความสำคัญกับการสำรวจพื้นที่ประสบภัยและดำเนินการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินโดยทันที เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทั่วถึง โดยถือปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด



3) ให้จัดสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพและจัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบเลี้ยงบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่วถึงจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ในทุกพื้นที่ที่ประสบภัยโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการอพยพประชาชน และในการแจกจ่ายถุงยังชีพและสิ่งของรับบริจาค ให้ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบและทั่วถึง โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพตลอดจนหลักปฏิบัติของผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ ด้วย



4) กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายหรือถูกน้ำท่วมขังจนไม่สามารถใช้สัญจรผ่านได้ ให้เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ทุกช่องทาง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร จัดทำสัญลักษณ์หรือป้ายเตือน แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย ตลอดจนมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบจัดยานพาหนะที่เหมาะสมให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว



5) กำชับหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยในการเดินเรือ ด้วยการออกประกาศห้ามนำเรือเล็กออกจากฝั่งในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการทางกฎหมายในทุกกรณี



6) เน้นย้ำสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจสถานการณ์เป็นระยะ รวมทั้งวิธีปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง



7) ให้ความสำคัญกับการสรุปรายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือให้กระทรวงมหาดไทยผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ



          และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ประสบภัยเร่งสำรวจพื้นที่ประสบภัยและตรวจสอบซ้ำเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากเกินอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งเสนอมายังส่วนกลาง เพื่อพิจารณาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป 



...

ข่าวทั้งหมด

X