ยอดดอย หนาวจัด ส่วนจังหวัดตอนบน-กทม.เย็นลง 2-4 องศา
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน และประเทศจีนตอนใต้แล้ว ขณะที่มีลมตะวันตกพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น มีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส ประเทศไทยตอนบนลมเริ่มแรงขึ้น ทำให้การสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันจะน้อยลง
ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป คลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมากกว่า 3 เมตร
CR:กรมอุตุนิยมวิทยา
ปภ.สรุป 7 จังหวัดใต้น้ำท่วมขัง เดือดร้อนกว่า 250,000 ครัวเรือน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถานการณ์น้ำตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.- 3 ธ.ค.2563 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย รวม 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 70 อำเภอ 358 ตำบล 2,318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 261,253 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขัง 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 62 อำเภอ 323 ตำบล 2,186 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 255,162 ครัวเรือน
CR:สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ,ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
นครศรีฯ หนักสุดในรอบ 50 ปี ระดม ปภ.จากพื้นที่ที่ไม่มีเหตุมาช่วย
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือประชาชน เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นใน จ.นครศรีธรรมราช ครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอ ที่หนักสุดมี 7 อำเภอ ถือว่าหนักสุดในรอบ 50 ปี สั่งการให้ ปภ.เขตต่างๆ ที่ไม่มีพื้นที่ประสบภัยให้มาช่วยเหลือเร่งด่วน ดูแลในเรื่องอาหารการกิน ประชาชนไม่ต้องกังวลในเรื่องของทรัพย์สินที่เสียหาย ขอให้อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อน ส่วนทรัพย์สินที่เสียหายขอให้ถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของกระทรวงการคลังหลังน้ำลดต่อไป
นายกฯ ลงไปตรวจนครศรีฯ 7ธ.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามสถานการณ์และเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงเช้าวันที่ 7 ธ.ค.2563เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมคณะเดินทางไปด้วย กระทรวงมหาดไทย ได้เตรียมความพร้อมจุดพื้นที่ที่นายกฯจะลงตรวจเยี่ยมเบื้องต้น 2 จุด
สุราษฎร์ธานี ตั้งศูนย์บัญชาการ-เตรียมเรือผลักดันน้ำ พร้อมรับน้ำจากนครศรีธรรมราช
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมด่วนตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ เนื่องจาก จะมีมวลน้ำจาก จ.นครศรีธรรมราช ไหลลงมาสมทบในแม่น้ำตาปี ให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลและอพยพประชาชน คาดว่า มวลน้ำนครศรีธรรมราชจะไหลเข้าสู่พื้นที่ในอีก 60 ชั่วโมงข้างหน้า มวลน้ำจะเพิ่มขึ้นใน อ.พระแสง เคียนซา บ้านนาเดิม และพุนพิน อาจมีน้ำทะเลหนุน
ขณะที่ อ.ไชยา ท่าฉาง และท่าชนะ จะมีฝนตกหนักและมีมวลน้ำจาก อ.คีรีรัฐนิคม เข้ามาสมทบ มีการแจ้งให้โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานีติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 26 เครื่องในแม่น้ำตาปีให้ออกทะเลโดยเร็วที่สุด และให้เรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือมาเสริมเพื่อจำกัดพื้นที่น้ำท่วมให้ลดลงโดยเร็ว
น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มริมทะเลสาบสงขลา 4 อำเภอ
สถานการณ์พื้นที่ลุ่มน้ำคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำที่ท่วมในพื้นที่ต่างๆ ถูกระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา ประกอบกับมีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง น้ำจึงเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มริมทะเลสาบสงขลาทั้ง 4 อำเภอ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 20 เซนติเมตร-1 เมตร
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกล ขนาด 50,000 ลิตร/นาที บริเวณประตูระบายน้ำคลองระโนด อ.ระโนด เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลสาบสงขลา คาดว่าระดับน้ำบริเวณทะเลสาบสงขลาจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมใน 4 อำเภอริมทะเลสาบสงลาเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียว ฝ่ายปกครองและหน่วยเกี่ยวข้องได้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้แล้ว
อินเดีย เตือนภัยไซโคลนบูเรวี คาดถล่มซ้ำรัฐทมิฬนาฑู
สำนักอุตุนิยมวิทยา
รัฐทมิฬานาฑู ถูกไซโคลนนีวอร์ พัดขึ้นฝั่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน มีผู้เสียชีวิต 23 ราย
เมื่อวันพุธ 2ธ.ค. 2563 ไซโคลน พัดกระหน่ำศรีลังกา ด้วยความเร็วลมสูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ศรีลังกา ได้เตรียมความพร้อมก่อนพายุจะขึ้นฝั่ง ทำให้มีการอพยพคนกว่า 750,000 คน ไปยังพื้นที่ปลอดภัย แต่อิทธิพลของพายุ ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ขอให้เรือกองทัพและเรือประมงงดออกจากฝั่ง