การยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง สภาปฎิรูปแห่งชาติ ที่มี นาย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการปฎิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้กำหนดเนื้อหาของโครงสร้างอำนาจรัฐ ที่มาของนายกรัฐมนตรี และระบบรัฐสภา เบื้องต้นไว้เรียบร้อยแล้ว โดยระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะใช้รูปแบบคล้ายกับประเทศเยอรมนี กำหนดให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส. ระบบเขต 250 คน ส่วนระบบบัญชีรายชื่อหรือ ปารตี้ลิสต์ จะคำนวณตามคะแนนนิยม คาดว่าจะมีจำนวน 200-230คน ทำให้จำนวนสภาผู้แทนราษฎรมีประมาณ 480-490 คน
ส่วนตัวนาย ไพบูลย์ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการปฎิรูปการเลือกตั้ง และต้องการให้พระสงฆ์มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของประเทศ แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะจะซ้ำซ้อนกับอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. และเห็นว่า กกต.ก็เหมาะสมที่จะทำหน้าที่อยู่แล้ว ทำให้ข้อเสนอการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าวตกไป
นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมืองได้เชิญนาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าหารือถึงแนวทางการสร้างความปรองดองด้วย โดยไม่ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟัง ส่วนการประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือสปช. ที่มีวาระการพิจารณาการปฎิรูปเร็วหรือ ควิก วิน ในเรื่องการติดตั้งโครงการโซลาร์รูฟเสรี ล่าสุดที่ประชุมสปช.ได้ลงมติเห็นด้วยด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งจะมีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป