ที่ประชุมสปช.พิจารณาการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทน

05 มกราคม 2558, 12:42น.


ในการประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือสปช.ครั้งที่ 1 /2558 ที่มีนาย เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาการปฎิรูปเร็วหรือ ควิก วิน ในเรื่องการติดตั้งโครงการโซลาร์รูฟเสรี และร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ


นาย อลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และอนุรักษ์พลังงาน ในฐานะผู้นำเสนอการติดตั้งโครงการโซลาร์รูฟเสรี กล่าวว่า ระบบโซลาร์รูฟ คือ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้านและอาคารต่างๆ หรืออยู่ตามบริเวณบ้าน ซึ่งจะทำการผลิตไฟฟ้าได้เหมือนระบบ Time of Use ในปัจจุบัน ซึ่งประชาชนที่ติดตั้ง สามารถใช้ไฟฟ้าได้ฟรี และหากใช้ไฟที่ผลิตในจำนวนน้อยก็สามารถนำส่วนที่เหลือมาขายต่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ด้วย โดยขณะนี้ประเทศไทยยังแทบไม่มีการใช้ไฟฟ้าระบบนี้  ส่วนต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมัน มีการใช้ระบบไฟฟ้าโซล่าร์รูฟกว่าร้อยละ.80-90 ของประเทศ ซึ่งช่วยประหยัดการผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ มองว่า ระบบไฟฟ้านี้เหมาะสมที่จะใช้ตามบ้าน อาคารสำนักงานและโรงจอดรถ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 30,000 เมกะวัตต์ต่อวัน ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานและการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ที่ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศกว่า1ใน 4 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ต่อวัน  ทั้งนี้คาดว่าหากผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และดำเนินการได้จริง ภายใน 5 ปีจะสามารถดำเนินการขายแผงโซล่าร์รูฟให้กับประชาชนได้ โดยจะมีราคาอยู่ที่เครื่องละ 120,000-160,000บาท ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟได้เดือนละ 1,200 บาท พร้อมคาดว่าภายใน 10 ปี ประชาชนที่ซื้อเครื่องจะสามารถคืนทุนได้ และคาดว่าภายใน 5 ปีจะจำหน่ายได้ 100,000 เครื่อง 


ส่วนการลงทุน คาดว่าภาครัฐจะเป็นผู้ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบสัมปทาน และนำมาขายต่อให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้จำหน่ายต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เอง ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดว่าหากประชาชนนำมาขาย การไฟฟ้าจะสามารถรับซื้อได้ในราคากี่บาทต่อหนึ่งวัตต์ 


ส่วนสมาชิกสปช. ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ยังมีข้อสังเกตว่า ราคาที่แพงถึง 120,000-160,000 บาทต่อเครื่อง โดยอาจมีการขยับราคาเพิ่มอีกนั้น อาจไม่ตอบสนองประชาชน เพราะเป็นราคาที่แพงเกินไป ซึ่งควรหามาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนให้สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่านี้ ซี่งจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น  รวมทั้งมองว่าในอนาคตค่าไฟฟ้าอาจมีราคาถูกลง.และประชาชนเองก็ไม่ได้อยู่บ้านใช้พลังงานตลอดวัน เพราะจากสถิติพบว่า ประชาชนใช้พลังงานในช่วงเวลา 18.00-22.00 น.มากที่สุด รวมทั้งระบุว่าควรมองหาพลังงานอื่นๆมาใช้ทดแทนด้วย 


 


...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร
ข่าวทั้งหมด

X