ตลาดอินเดีย เปิดรับสินค้าไทยในกลุ่มของหวาน ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับ
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานถึงทิศทางธุรกิจค้าปลีกในตลาดอินเดียในช่วงเทศกาลและพิธีการต่างๆ จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ โดยได้แจ้งถึงโอกาสในการเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าในกลุ่มของหวาน ของใช้ในชีวิตประจำวัน ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับ เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคชาวอินเดีย ที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลและพิธีการต่างๆ ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนต.ค.2563 จนถึงเดือนธ.ค.2563 รวมถึงต้นปีที่มักจะมีพิธีแต่งงานไปจนถึงสิ้นฤดูหนาวเดือนมี.ค.2564
กลุ่มผู้บริโภคชาวอินเดีย นิยมซื้อหาของขวัญให้แก่กันตั้งแต่เดือนก.ย.2563 โดยของที่มอบในโอกาสพิเศษอาจเป็นของนำเข้า เช่น ขนม ผลไม้ และช็อกโกแลตนำเข้า โดยสินค้าไทยนอกจากผลไม้อบแห้งแล้ว ยังมีสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ คือ ขนมประเภทบิสกิต คุ้กกี้ ซึ่งคนอินเดีย นิยมทานขนมที่มีความกรอบร่วมกับชานม (Chai) โดยผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและปรับสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกได้
น.ส.สุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ กล่าวว่า ยอดขายในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีการซื้อหาของขวัญและจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในอินเดีย โดยยอดขายในช่วงนี้จะมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 35 ของยอดขายตลอดทั้งปีของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ประมาณร้อยละ 10 ของ GDP และร้อยละ 8 ของการจ้างงานทั้งหมดในอินเดีย ดังนั้น ช่วงเวลาแห่งเทศกาลนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจอินเดีย
ในปี 2562 อินเดียนำเข้าบิสกิต จากอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ รวมทั้งจากสิงคโปร์และเวียดนาม ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ด้วยมูลค่าการนำเข้า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ และอินเดียเป็นผู้ผลิตบิสกิตอันดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าอินเดียจะผลิตได้มาก แต่ก็มีความต้องการบริโภคมากด้วยเช่นกัน โดยผลการศึกษาของแนวโน้มการบริโภคบิสกิตของ Bonafide Market Research Reports พบว่า ตลาดบิสกิตในช่วงปี 2561-2566 จะขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ต่อปี โดยผู้บริโภคคาดหวังสินค้าที่มีความแปลกใหม่และหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย
ธปท.เตรียมพิจารณามาตรการดูแลค่าเงินบาทแข็งค่า
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตอนนี้ ธปท.พิจารณามาตรการดูแลค่าเงินที่เหมาะสม โดยต้องดูในแง่ภาพรวม ไม่ได้เป็นมาตรการที่ดูแลเพียงค่าเงินเท่านั้น แต่ต้องดูถึงผลข้างเคียง คณะกรรมการนโยบายเงิน (กนง.) ไม่ได้นิ่งนอนใจในช่วงค่าเงินบาทแข็ง โดยมีการแทรกแซงค่าเงินมาตลอด ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจาก ธปท.เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.50 ถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์และต่ำสุดในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากข่าววัคซีน ซึ่งทำให้คนคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลมากขึ้น แต่เรื่องของวัคซีนที่ออกมาไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เพราะคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้นักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาก็ไม่ได้มา ทำให้เงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวเปราะบาง
นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในภาวะปกติไม่ได้ส่งผลต่อยอดการส่งออก จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่มีสายป่านสั้น
CR:แฟ้มภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายกฯญี่ปุ่น ยอมรับว่าประเทศเข้าสู่ภาวะเตือนภัยโควิด-19 ขั้นสูงสุด
นายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเตือนภัยขั้นสูงสุด หลังมีรายงานการพบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จำนวน 2,189 คนซึ่งเป็นสถิติสูงสุดและเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขดังกล่าวทะลุ 2,000 คนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนสะสมอยู่ที่ 120,815 คน มากเป็นอันดับที่ 50 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 1,913 ราย
นายกฯญี่ปุ่น มอบหมายให้นายยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งรับผิดชอบการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนายโนริฮิสะ ทามูระ รัฐมนตรีสาธารณสุข ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลา 2 วันจนถึงวันศุกร์นี้
นายสึกะ ต้องการให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในร้านอาหารให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และถอดออกเพื่อรับประทานอาหารในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19
ผู้นำจีน ชูนโยบาย ‘แผนยุทธศาสตร์วงจรคู่’ แข็งแรงจากภายในและหาจุดสมดุลในต่างประเทศ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน แถลงผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ต่อที่ประชุมทางธุรกิจของการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพในปีนี้ แต่ต้องจัดแบบทางไกล เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหัวข้อของการจัดงานปีนี้คือ การให้ความสำคัญกับผลกระทบที่ตามมาหลังวิกฤตโรคโควิด-19 ว่าวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งนี้เป็นหนึ่งในความท้าทายหลายด้านที่โลกกำลังเผชิญ การร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพของประชาคมโลกคือหนทางนำไปสู่ชัยชนะ และการแสวงหาแนวทางฟื้นฟูอย่างยั่งยืนร่วมกัน
ในส่วนของจีนเน้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักเพื่อเป็นพื้นฐานให้กับการฟื้นฟูตั้งแต่ระดับฐานราก ซึ่งเป็นแกนหลักของ "แผนยุทธศาสตร์วงจรคู่" ซึ่งจีนผลักดันมานานหลายทศวรรษ นั่นคือเศรษฐกิจที่เติบโตจากการพัฒนาภายในอย่างมั่นคง ความแข็งแกร่งดังกล่าวจะนำมาซึ่งสมดุลให้กับตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน จีนยังปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาใหม่ โดยประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก ประธานาธิบดีจีน กล่าวถึง แผนการเปิดรับการพิจารณาข้อเสนอจากทุกประเทศ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการ คุณภาพสูงการลดกำแพงภาษีเพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตด้วย