ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทุจริตเงินสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ หมายเลขดำ อท.46/2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 73 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 46 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12
ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนพยานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เริ่มดำเนินการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ และโครงการอื่นๆ อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ให้เจ้าหน้าที่ของ ททท. ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีน เตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทให้มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับจ้างตรงตามที่คณะกรรมการจัดจ้างของ ททท. ต้องการ จนนำไปสู่การเข้าทำสัญญาของบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีนกับ ททท. โดยการอนุมัติของจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีตกลงราคาและวิธีพิเศษ มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า อนุมัติทุกโครงการด้วยความสุจริตรับฟังไม่ได้
นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดเส้นทางการเงินเชื่อมโยงระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีน รวมถึงอีเมล และโทรสารที่จำเลยที่ 1 ติดต่อเจรจาเรื่องผลประโยชน์ คือเงินที่โอนเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดหรือไม่ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่ารับจ้างทำวิจัยและโครงการนั้น ไม่มีหลักฐานหรือการรับรองใดๆ จากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่จะทำให้มีน้ำหนัก เชื่อได้ว่ามีการทำวิจัยและโครงการต่างๆ ตามที่นำสืบมา มีลักษณะใช้การทำวิจัยและโครงการเป็นข้ออ้าง เพื่อรับเงินบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีนโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ และให้ยกคำสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินที่เป็นการกระทำผิดซึ่งเป็นเงินในบัญชีต่างประเทศกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 62,724,776 บาท
เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใด ๆ ไว้ท้ายฟ้อง และบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 52 บัญญัติ ให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับนั้น ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อน ดังนั้นคดีนี้จึงต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายคดีอาญาสามัญ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่นำมาตรการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 31(2) , มาตรา 32(2) และมาตรา 33 วรรคหนึ่งนั้นมาใช้กับคดีนี้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำตัวสองแม่ลูกขึ้นรถยนต์กลับไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางตามคำพิพากษาศาลฎีกา