ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2563

13 พฤศจิกายน 2563, 07:39น.



เตือน! มรสุม ตอ.เฉียงเหนือ ทำให้ภาคใต้สองฝั่ง ฝนหนัก จุดเสี่ยงระวังน้ำป่า



          กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนพายุโซนร้อน "หว่ามก๋อ" เคลื่อนเข้าเวียดนาม 15 พ.ย.2563 ก่อนจะอ่อนกำลังลงและกระทบถึงไทย เตือนให้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง





-สภาพอากาศในช่วงนี้ ภาคตะวันออก อากาศเย็นกับมีลมแรง โดยมีฝนร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด



-มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร



-ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล



-กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นกับมีลมแรง โดยมีฝนร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส



          น.ส.พะเยาว์ เมืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศเตือนหลายจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง คลื่นลมอ่าวไทยมีกำลังแรง



https://www.tmd.go.th/warningwindow.php?wID=10575



หว่ามก๋อ ทำให้กรุงมะนิลา น้ำท่วมหนัก คนหนีน้ำติดบนหลังคา



          ความรุนแรงของพายุหว่ามก๋อ ที่พัดเข้าถล่มเกาะลูซอน และกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ด้วยความเร็วลมสูงสุด 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย เกิดน้ำท่วมหนักในกรุงมะนิลา ประชาชนติดค้างอยู่บนหลังคาบ้าน กระทบประชาชน 12 ล้านคน หน่วยงานอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยดินโคลนถล่มและคลื่นซัดฝั่ง



          ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนจากพายุหว่ามก๋อใกล้เคียงกับระดับน้ำจากพายุไต้ฝุ่นเมื่อปี 2552 ซึ่งมีปริมาณสูงสุดราว 455 มม. พร้อมเตือนว่าสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะยิ่งเลวร้ายขึ้น เพราะมีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขา ส่วนพื้นที่น้ำท่วมหนักในเขตเมโทรมะนิลา คือ เมืองมาริกินา กับระดับน้ำบนถนนบางสายที่สูงมิดหัวไหล่



กทม.เร่งตรวจชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก ควบคุมโรค RSV ใช้มาตรการเดียวกับคุมโควิด-19



          การควบคุมโรคติดเชื้อ RSV Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ขวบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด และศูนย์บริการสาธารณสุข ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องการป้องกันควบคุมโรค วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้น โดยเฉพาะสถานที่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น เนอสเซอรี่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ห้างสรรพสินค้า แคมป์ก่อสร้าง และโรงเรียนสังกัดกทม. 437 แห่ง และตามชุมชนต่างๆ รวมถึงยังได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่มีอยู่ทั้งหมด 292 ศูนย์ หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้หรือวัตถุต่างๆ ที่หยิบจับร่วมกัน ตลอดจนตรวจคัดกรองตามมาตรการเช่นเดียวกับโควิด-19 ขณะเดียวกันให้หมั่นสังเกตอาการของเด็ก หากมีอาการเจ็บป่วยให้หยุดเรียนทันที เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในวงกว้าง



‘ศ.นพ.ประสิทธิ์’ เตือนอากาศหนาว เชื้อโควิด-19 แพร่ง่าย ช่วงพีค ม.ค. 64

          การควบคุมเชื้อโควิด-19 ในช่วงหน้าหนาว ต้องคุมเข้มเพิ่มขึ้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผู้ป่วยสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 1.5 วัน เพิ่มถึง 1,500,000 คนแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ทำให้ไวรัสอยู่ได้นานขึ้น คนส่วนใหญ่จะอยู่ในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากอนามัยจึงเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ขณะนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของโรค แต่ยังไม่ถึงจุดพีคหรือสูงสุด ซึ่งจุดพีคจะเป็นช่วงเดือน ม.ค.2564 จึงต้องเฝ้าระวัง หลายประเทศเริ่มมีมาตรการเข้มงวดขึ้น



         ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยที่เตรียมเสนอลดวันกักตัวเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในส่วนของนักวิชาการก็เพียงให้ข้อมูล ขณะนี้เศรษฐกิจก็ประคับประคองได้ระดับหนึ่งจากคนไทยที่ออกไปเที่ยวกันเองในประเทศ หากลดวันกักตัวเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวต้องคุมเข้มมาตรการอย่างจริงจัง เพราะถ้าเกิดการระบาดขึ้น ไม่เพียงต่างชาติไม่มา คนไทยเองก็ต้องหยุดชะงัก มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ที่เกิดระบาดรอบสองจนต้องล็อกดาวน์ ซึ่งสภาพอากาศประเทศไทยขณะนี้ก็เข้าสู่ช่วงหนาวที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน



กัมพูชา ยังไม่ล็อกดาวน์ ด้านอินโดฯ ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในอาเซียน



        สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศต่างๆ นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ยืนยันว่า หลังจากที่มีการตรวจพบบุคคล 4 คน ที่เกี่ยวข้องกับนายปีเตอร์ ซิยาร์โท รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี ติดเชื้อโควิด-19 และสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งความเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำกักตัว ทำให้ในตอนนี้ยังไม่ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่เพื่อความไม่ประมาทและเป็นการป้องกัน รัฐบาลได้สั่งปิดสถานบันเทิง เช่น ร้านคาราโอเกะ ไนท์คลับ โรงภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ และประกาศปิดโรงเรียนในกรุงพนมเปญ และ จ.กันดาล ที่อยู่ติดกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นอกจากนี้รัฐบาลได้แจกหน้ากากอนามัยจำนวน 2,000,000 ชิ้นให้ประชาชนในกรุงพนมเปญ และสั่งยกเลิกงานทั้งหมดที่รัฐเป็นผู้จัด



          กระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาของเมียนมา แถลงว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง มีจำนวน 1,145 คน ทำให้ขณะนี้เมียนมามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 65,598 คน นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 28 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,508 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมาได้พุ่งขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกเพียง 2 คนเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563



          กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 4,173 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 452,291 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ขณะนี้ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย ส่วนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 97 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 14,933 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนเช่นกัน



          กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 1,643 คน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าจำนวน 1,605 คน เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 ทำให้ขณะนี้ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อสะสม 113,808 คน โดยไม่รวมถึงผู้ติดเชื้อ 700 คนจากเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซสที่ถูกกักตัวอยู่ในเมืองโยโกฮามาเมื่อเดือนก.พ.2563  นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วประเทศอยู่ที่ระดับ 1,884 ราย



-ด้านกรุงโตเกียว เปิดเผย ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 393 คน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 33,770 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดจาก 47 จังหวัดในญี่ปุ่น



 



 



 



 




 

ข่าวทั้งหมด

X