ไทยหารือ ไฟเซอร์ กลางเดือนนี้ หลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ผลร้อยละ 90

10 พฤศจิกายน 2563, 16:22น.


          หลังบริษัทยาไฟเซอร์ อิงค์ของสหรัฐอเมริกา และไบโอเอ็นเท็คเยอรมนี ออกมาเปิดเผยความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่าร้อยละ90 นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ความสำเร็จ8ครั้งนี้ เป็นการทดลองประสิทธิภาพการป้องกันโรคซึ่งทดลองในอาสาสมัครกว่า 38,000 คน จากทั้งหมดกว่า 43,000 คน ในระยะ 2 เดือน นับเป็นข่าวดี  และเป็นความหวังว่าจะได้ใช้วัคซีนในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทวัคซีนที่ทดลองในมนุษย์ 11 บริษัท และทดลองวัคซีนในรูปแบบกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อเหมือนกัน



          นอกจากนั้นยังพบว่า วัคซีนของไฟเซอร์ เป็นชนิด mRNA ไทยโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็อยู่ระหว่างพัฒนาก็เป็นชนิด mRNA เช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่ามาถูกทาง ซึ่งของจุฬาฯ วางแผนวิจัยในมนุษย์ช่วงเดือน ม.ค.2564



          หลังจากนี้ไฟเซอร์ต้องติดตามผลต่อเนื่อง จากนั้นจึงจะขอยื่นขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับ อย.สหรัฐว่า จะให้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่ หรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม เพราะยังต้องติดตามว่า ประสิทธิภาพการป้องกัน หรือภูมิคุ้มกันอาจลดลงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลของไฟเซอร์ทดลองในระยะเวลา 2 เดือน ดังนั้น ต้องติดตามว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไปอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ภูมิลดลงก็เป็นได้ว่า ประสิทธิภาพร้อยละ 90จะลดลง หรือจำนวนเข็มที่ฉีดจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีกหรือไม่





          อย่างไรก็ตาม หลังไฟเซอร์ประกาศว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ90นั้น อาจนำไปสู่การค้นพบภูมิคุ้มกัน ที่เป็นตัวกำหนดในการป้องกันโรคก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป



          ในส่วนของประเทศไทยนั้น บริษัทไฟเซอร์ได้มีการนัดหมายกับประเทศไทยในกลางเดือนนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน  ก่อนที่ไฟเซอร์จะประกาศประสิทธิภาพของวัคซีน โดยไทยจะขอข้อมูลเชิงลึกกับทางไฟเซอร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของไทยกับไฟเซอร์ด้วย

          สำหรับบุคคลที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผอ.กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรค(คร.) อยู่ระหว่างการจัดเรียงความสำคัญกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกรณีมีวัคซีนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ส่วนกลุ่มอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องมีข้อมูลทั้งอัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต โดยจะนำข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบ คาดว่าทั้งหมดจะชัดเจนภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาต่อไป

ข่าวทั้งหมด

X