‘ไบเดน’จะกลับเข้าไปเป็นสมาชิก WHO วางตัวครม.ใหม่ให้หญิงผิวสี นั่งรมว.กลาโหม
นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนใช้อำนาจฝ่ายบริหารเพื่อแก้ไขนโยบายหลายเรื่องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทันทีที่เข้าทำงานอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯคนที่ 46 ในช่วงบ่ายวันที่ 20 ม.ค. 2564
-ยื่นเอกสารสมัครกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ก่อนที่ใบลาออกที่รัฐบาลนายทรัมป์ ยื่นลาออกจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.ค. 2564
-การกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส ซึ่งใบลาออกของสหรัฐฯมีผลแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2563 เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ พ.ศ. 2563
-ยกเลิกคำสั่งของนายทรัมป์ ที่จำกัดการเข้าเมืองและการออกวีซ่าใหม่ให้กับพลเมืองของซูดาน ซีเรีย อิหร่าน อิรัก เยเมน และลิเบีย
-รื้อฟื้นโครงการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเด็ก
เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า นายไบเดน มีแผนเผยรายชื่อบุคคลที่เขาต้องการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆก่อนถึงวันขอบคุณพระเจ้า ปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พ.ย.2563 ซึ่งเริ่มมีการคาดการณ์แล้วว่า นายไบเดน อาจเสนอชื่อผู้หญิงให้เข้ารับการพิจารณาคุณสมบัติจากวุฒิสภา ในตำแหน่งรมว.กลาโหม และกระทรวงการคลัง โดยอาจเป็นหญิงผิวสีด้วย เนื่องจากเป็นเพียงสองกระทรวงเท่านั้น ที่มีรัฐมนตรีว่าการเป็นชายผิวขาวมาตลอด
นายกฯไทย- ผู้นำทั่วโลก และชาวอเมริกัน เฉลิมฉลองยินดีกับไบเดน
ผู้นำทั่วโลกต่างแสดงความยินดีกับนายไบเดน และ นางกมลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แสดงความยินดีกับทั้งสองคน โดยระบุว่า มิตรภาพที่ยาวนานมากกว่า 200 ปีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไทยในฐานะประเทศแรกที่มีการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีฯกับสหรัฐฯในเอเชีย เป็นความภูมิใจในความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในทุกเรื่องทั้งเรื่องความมั่นคง และเรื่องสันติภาพ ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง และรอระยะเวลาที่จะทำงานร่วมกัน
-ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ระบุว่า การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กันเป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงความหวังที่ฝากไว้กับประชาธิปไตย
-นายกฯโยชิฮิเดะ สึกะ ของญี่ปุ่น แสดงความหวังเรื่องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศเพื่อรับประกันในเรื่องความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
-ประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้ ย้ำว่าความเป็นพันธมิตรและสายสัมพันธ์ของสองประเทศมีความแข็งแกร่ง
-นายกฯอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ทวีตแสดงความยินดี ขออวยพรให้โชคดีและประสบความสำเร็จ ไม่มีสิ่งใดทดแทนมิตรภาพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้
-ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความยินดี พร้อมทั้งระบุว่า มีภารกิจมากมายที่ต้องทำร่วมกันเพื่อเอาชนะความท้าทายในปัจจุบัน
-นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ระบุสหรัฐฯเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของอังกฤษ
-ขณะที่นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ กรีซ และอิรัก ยกย่องนายไบเดนว่า เป็นมิตรแท้ของประเทศ
-เช่นเดียวกับนายกฯเบนยามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ผู้สนิทสนมกับนายทรัมป์ เรียกนายไบเดนว่ามิตรที่ยิ่งใหญ่ของอิสราเอล
-ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานและไนจีเรีย หวังที่จะกระชับความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะการปราบปรามก่อการร้าย
-ชาวอเมริกันในหลายเมือง ในหลายรัฐ ขับรถออกมารวมตัวกัน เพื่อเฉลิมฉลองแสดงความยินดีกับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 และมีการจุดพลุด้วย
ชาวไต้หวัน วิตกว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายไบเดน กับจีน อาจกระทบถึงไต้หวัน
ชัยชนะของนายไบเดน ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ในไต้หวัน ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวัน ได้ทวีตข้อความแสดงความยินดีกับนายไบเดน และนางแฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ส่วน นายซู เจิน ชาง นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ชื่นชมความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวัน และหวังว่า นายไบเดน จะให้ความสำคัญกับไต้หวันมากกว่าเดิม
ชาวไต้หวันต่างพากันหวั่นวิตกว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายไบเดนกับจีน อาจส่งผลกระทบถึงไต้หวัน
ขณะที่ บางคน บอกว่า ไต้หวันยังเป็นประโยชน์สำหรับสหรัฐฯ ไม่ว่าฝ่ายใดจะขึ้นมาครองอำนาจในสหรัฐฯก็ตาม
‘ทรัมป์’เครียด ยืนยันว่าเป็นผู้ชนะ
เว็บไซต์เดลี่เมลและเดอะ ซัน เกาะติดภารกิจของนายทรัมป์ ทราบผลแพ้การเลือกตั้งสหรัฐฯ ขณะออกรอบเล่นกอล์ฟ ที่สนามกอล์ฟของตนเอง ในเมืองสเตอริง รัฐเวอร์จิเนีย และหลังจากเล่นกอล์ฟเสร็จแล้ว นายทรัมป์ มีสีหน้าเคร่งขรึม ครุ่นคิด ได้เดินทางกลับมาที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ โดยระบุว่า ผู้สังเกตการณ์ไม่ได้รับอนุญาตให้ดูการนับคะแนนผลเลือกตั้งในห้อง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเขาคือผู้ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต 71 ล้านคะแนน
ทำไมบางรัฐ นับคะแนนเลือกตั้งสหรัฐฯล่าช้า
การนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในบางรัฐที่ล่าช้า เนื่องจาก กฎหมายการเลือกตั้งในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ ซึ่งมี 50 รัฐ และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่เหมือนกัน แต่ละรัฐต่างมีกฎหมายเลือกตั้งในรัฐของตนเอง
คณะกรรมการการเลือกตั้งในแต่ละรัฐมีกฎเกณฑ์แตกต่างกัน และบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์อาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะมาถึงหน่วยนับคะแนนในพื้นที่นั้นๆ
กระบวนการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ช้ากว่า
ปกติแล้ว กระบวนการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ใช้เวลานานกว่าการเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยเฉพาะรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์แตกต่างกัน
-บางรัฐ ไม่สามารถนับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง เช่น รัฐมิชิแกน รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นรัฐสวิงสเตท และทั้ง 3 รัฐมีชาวอเมริกัน สังกัดพรรครีพับลิกันจำนวนมากกว่าพรรคเดโมแครต ได้ตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ที่จะรอ ไม่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์จนกว่าถึงวันเลือกตั้ง
-บางรัฐ อนุญาตให้นับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้ตั้งแต่ก่อนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.2563 เช่นที่รัฐฟลอริดา เจ้าหน้าที่เลือกตั้ง สามารถเริ่มนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้ตั้งแต่ 22 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง
นอกจากนั้น ยังมีบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ส่งมาถึงล่าช้า โดยอาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะมาถึงหน่วยนับคะแนน หลังจากผ่านพ้นวันเลือกตั้งไปแล้ว บัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ถือว่าเป็นบัตรดีที่ต้องนำมานับคะแนน ตราบเท่าที่ตราประทับบนบัตรไปรษณีย์อยู่ภายในวันที่ 3 พ.ย.2563
ฟิลิปปินส์ สนับสนุนผู้พิพากษาจีน ลงชิงเก้าอี้ผู้พิพากษาศาลโลก
นายธีโอโดโร ล็อคซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ สั่งการไปที่สถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฟิลิปปินส์ ประจำองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ลงคะแนนเสียงในนามรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ผู้พิพากษาชาวจีนที่เข้าแข่งขันชิงเก้าอี้คณะตุลาการ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเจ (International Court of Justice : ICJ) ในวันที่ 11พ.ย. 2563 ในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
ผู้สมัครแข่งขัน 4 คน ใน 8 คน ชิงเก้าอี้ผู้พิพากษาศาลโลก 5 ที่นั่ง ประกอบด้วย ผู้พิพากษาในองค์คณะปัจจุบัน ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี จะสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ก.พ.2564 และ 1 ใน 4 คนที่เหลือเป็นผู้พิพากษาหญิงชาวจีน ซื่อ ฮั่นฉิน ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานไอซีเจ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ศาลโลก (World Court)
ไอซีเจ ศาลสูงสุดของยูเอ็น ในการวินิจฉัยชี้ขาด กรณีพิพาทระหว่างรัฐ มีองค์คณะตุลาการ 15 คน มาจากการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยชาติสมาชิกสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่สามารถลงแข่งขันเลือกตั้งทำหน้าที่ต่อได้
ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต พยายามสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกองทัพ เกิดความไม่ไว้วางใจจีนอย่างหนัก จากการถูกล่วงล้ำดินแดน การข่มขู่คุกคามชาวประมง และการขัดขวางเข้าถึงแหล่งพลังงานของฟิลิปปินส์