นางกลอเรีย คลูเลอซา ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักบริหารการบินกลางของสหรัฐฯและนางไซเวีย ริกลีย์ นักบินอากาศยานขนาดเล็กและผู้เขียนหนังสือชื่อว่า เครื่องบินตกเพราะเหตุใด กล่าวว่า รายงานบ่งชี้ว่า เที่ยวบิน QZ8501 ของแอร์เอเชียอาจจะบินอยู่ในช่วงที่เกิดพายุเมฆขนาดใหญ่ ก่อนจะหายไป หลังกัปตันขออนุญาตนำเครื่องบินขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่าเดิม ระบุว่า สภาพอากาศคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 23 ของสาเหตุการตกทั้งหมดของเครื่องบินทั่วโลก ทั้่งกรณีร้ายแรงและเล็กน้อย ในขณะที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุทั้งหมดระหว่างปี 2549-2554 เกิดจากการที่เครื่องไถลออกนอกรันเวย์ ด้านนางริกลีย์ เห็นว่า น้อยครั้งมากที่สภาพอากาศจะเป็นสาเหตุสำคัญของการตกชองเครื่องบิน ดังเช่นในกรณีเครื่องบินโดยสารลำหนึ่งของแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศสตกในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2552 หลังการตกหลุมอากาศ มีสัญญาณเตือนหลายครั้งว่า เครื่องบินเริ่มจะนิ่งสนิทอยู่กลางอากาศ แต่นักบินไม่เคยเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่เห็นว่าเรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือ วิธีการควบคุมเครื่องของนักบินและลูกเรือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด โดยปกติ ทั้งนักบินและเจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยนักบินจะนำเครื่องบินออกห่างจากจุดที่เกิดพายุรุนแรงอย่างน้อย 16 กิโลเมตร นอกจากนั้น เทคโนโลยีเรดาร์ที่ติดตั้งกับส่วนหัวเครื่องบินจะช่วยให้นักบินสามารถตรวจพบและเลี่ยงสภาพพายุร้ายแรงได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ฝนตกหนักและฝนลูกเห็บอาจจะทำให้เครื่องยนต์ดับ โดยปกตินักบินสามารถจะสตาร์ทเครื่องใหม่ได้ แต่ก็อาจจะสตาร์ทไม่ติด เช่นกรณีเครื่องบิน 737 ของการุดา อินโดนีเซีย แอร์เวย์ เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องดับระหว่างเกิดฝนตกหนักขณะบินเหนือทะเลชวาเมื่อปี 2545 ถึงแม้จะสตาร์ทเครื่องไม่ติด แต่กัปตันก็ยังสามารถนำเครื่องลงจอดในแม่น้ำแห่งหนึ่งได้อย่างปลอดภัย