ภาพรวมการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.นาย พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ระบุว่า หลังการทำงานมากว่า 5 เดือน สมาชิกสนช.ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายไปแล้วกว่า 49 ฉบับ และยังมีร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านวาระหนึ่งขั้นรับหลักการไปแล้วอีกเกือบ 30 ฉบับ โดยร่างพระราชบัญญัติส่วนใหญ่เป็นร่างที่คงค้างมาจากรัฐบาลก่อนและเป็นร่างที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ บางร่างอาจออกไม่ได้ในภาวะรัฐบาลปกติ เนื่องจากจะติดปัจจัยทางการเมือง เช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีมรดก ร่างพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ จึงต้องมีการนำมาพิจารณาในรัฐบาลชุดนี้โดยเร่งด่วน โดยร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับสามารถผ่านออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้แน่นอน
นายพีรศักดิ์ พอใจกับการทำงานของสมาชิกสนช.และทิศทางการทำงานก็มีความชัดเจนเป็นระบบมากขึ้น คาดว่าต่อไปสนช.สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกคนมีประสบการณ์การทำงานแล้ว อย่างไรก็ตามยังเหลือกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. เสนอเข้ามาให้สนช.พิจารณาอีกกว่า 163 ฉบับ คาดว่าจะพิจารณาเสร็จทั้งหมดในปลายปี 2558 เพื่อให้ทันก่อนการเลือกตั้งในต้นปี 2559
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกฎหมายที่จะพิจารณาออกเป็นประเภทต่างๆอีกกว่า 3 ประเภท ได้แก่ กฎหมายด้านนโยบาย กฎหมายที่มีพันธะสัญญากับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และกฎหมายที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยจะต้องอาศัยคณะทำงานผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยในการคัดกรองประเภทของกฎหมาย เพื่อให้การทำงานของสนช.เป็นไปอย่างมีระบบ นอกจากนี้สนช.ยังมีคณะกรรมการวิชาการมาคอยดูแลการแบ่งประเภทและดำเนินการทางกฎหมายด้วย
ส่วนร่างพระราชบัญญัติภาษีมรดกที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะนำมาใช้ไม่ได้จริงนั้น นาย พีระศักดิ์ ก็ระบุว่า จะนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการและการพิจารณาข้อกฎหมายว่าจะออกมาสอดคล้องกับสภาพสังคมและประชาชนมากแค่ไหน โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องใช้เวลาในการดำเนินงานกว่า 90วัน เนื่องจากเป็นร่างที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น และจะมีการนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างนี้ด้วย