ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.วันอังคารที่ 29 กันยายน 2563

29 กันยายน 2563, 07:45น.


ยังไม่สรุป ลดเวลากักตัว! รมว.สธ. เผยรอแพทย์สรุปวิธีการตรวจหาเชื้อก่อน  




          แนวคิดลดการกักตัวและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ หลังจากที่ประชุมใหญ่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวานนี้ ได้ออกมาตรการผ่อนคลายอนุญาตให้ต่างชาติ 6 กลุ่มเข้าไทยได้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง แนวคิดลดการกักตัวจาก 14วัน เหลือ 7 วันว่า ที่ประชุมศบค. ยังไม่ได้หารือเรื่องลดระยะเวลาการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุป



         คณะแพทยศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำลังหารือกันในวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้เห็นว่าการตรวจที่ได้ทำไปแล้วได้ผล หากติดเชื้อแล้วเชื้อจะปะทุขึ้นมาภายใน 4 วัน ขณะนี้ทดลองไปกว่า 100 ตัวอย่าง ซึ่งผลออกมา 100% ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ร้อยกว่ารายก็ยังไม่พอจะเอาเป็นพันๆราย ต้องคุยกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ กรมควบคุมโรคว่าขอให้ตรวจกับกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศและอยู่ในสถานกักกันโรค หากได้กลุ่มตัวอย่างเป็นพันราย ผลออกมาตรงกัน 100% ก็จะนำไปประกอบการพิจารณาลดจำนวนวันที่ต้องกักกันโรค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะให้การสนับสนุนการทดลองในทุกรูปแบบ หรืออาจจะลดเหลือ 10 วัน ตามข้อเสนอของ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข



นายกฯ สั่งรณรงค์ใส่หน้ากากอนามัย กำกับร่างแผนดูแลนักท่องเที่ยว-นักธุรกิจ

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุว่า มาตรฐานในการควบคุมโรคที่เราใช้คือกักตัว 14 วัน แต่มีบางคนเข้ามาในระยะสั้นๆเพื่อลงนามต่างๆ จึงอนุญาตให้บุคคล 6 กลุ่มเดินทางเข้ามาได้ นอกจากนี้ เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรณรงค์ต่อเนื่องการใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลังพบประชาชนใส่หน้ากากลดลงจากช่วงเดือนพ.ค.ที่มีมากถึงร้อยละ 94.8 เหลือเพียงร้อยละ 82.2 จึงขอให้กลับไปเข้มงวดเหมือนเดิมให้ได้ร้อยละ 90 ถึงจะปลอดภัย 



นายกฯ ให้หาวิธีดูแลเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ด้วยดีในช่วง 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค.



-เน้นกลุ่มแรก คือ นักธุรกิจ ที่มาลงทุนต้องมีมาตรการเฉพาะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร มีมาตรการติดตาม ป้องกันอย่างไร



-กลุ่มที่สองคือ นักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้น และระยะยาวแบบมาเที่ยว 60 วันขึ้นไป เราต้องดูตั้งแต่ต้นทาง ประเทศที่จะมา พื้นที่ที่พักอาศัย และการดูแลผู้ประกอบการชั้นล่าง เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน



ขอประชาชน 10 จังหวัดติดเมียนมา ดูแลพรมแดน



          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ติดเชื้อ 11,631 คน ซึ่งขอบชายแดนของเมียนมาติดกับไทยถึง 10 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง จึงขอความร่วมมือประชาชน 10 จังหวัดร่วมมือดูแลขอบชายแดนของไทยเป็นอย่างดี เพราะสถานการณ์เมียนมาที่เกิดขึ้นเกิดจากขอบที่ติดกับอินเดียและบังกลาเทศที่ติดเชื้อเริ่มต้นมาก่อน และไหลเข้ามาถึงใจกลางประเทศ



สธ.ตั้งวอร์รูม เกาะติดเมียนมา ในรอบ 1 เดือน ติดเชื้อเพิ่มเท่าตัว



          นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถิติที่เราพบเมียนมามีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ขณะนี้มากกว่า 10,000 คนแล้ว และแต่ละวันเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1,000 คน และยังพบว่าบางช่วงเพิ่มขึ้นเท่าตัวใน 1 เดือนที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1,000 คน เป็น 2,000 คน และเป็น 4,000 คน เป็น 8,000 คน จนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน ซึ่งเราติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยมีมาตรการอยู่ 2 แนวทางคือ



1.ควบคุมการเข้าออกระหว่างสองประเทศ บูรณาการฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง สาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องป้องกันช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน



2.สธ.นำทีมลงตรวจโดยเฉพาะการใช้รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานในอ.แม่สอด จ.ตาก 2,000 กว่าคน ไม่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติอย่างละครึ่ง นอกจากนี้ สธ.ยังเตรียมพร้อมโรงพยาบาล และสถานบริการทางการแพทย์ การพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดติดเมียนมา รวมถึงเตรียมอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) หน้ากากอนามัย ชุดพีพีอี ที่ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงติดเชื้อ พร้อมงบประมาณลงไปในพื้นที่ให้เกิดความพร้อม นอกจากนี้ มีการตั้งวอร์รูมขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามสถานการณ์



กต.เล็งคุยเมียนมาช่วยสกัดคนเข้า-ออก

          นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยเรื่องการช่วยเหลือเมียนมาเพื่อหยุดยั้งการระบาดว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราต้องคิดถึงวิธีการที่จะไปช่วยเขา ไม่ใช่แค่เวชภัณฑ์ ในเร็วๆนี้ คงต้องหารือกับรมว.ต่างประเทศเมียนมาด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องหารือกันคือการสกรีนคน ไม่ใช่ปล่อยให้มาออกันที่ด่านชายแดนจำนวนมาก เพราะจะควบคุมไม่ได้ เช่นเดียวกันทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งเราต้องทำกันเป็นระบบ โดยดูเรื่องการกักตัวแต่ละชุดจะดำเนินการกี่คนและตรวจตรากันอย่างดี



ศธ.สอบ 42 โรงเรียนเครือสารสาสน์หลังได้รับเรื่องร้องเรียนถึง 34 แห่ง



          ข้อสรุปหลังจากที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ประชุมหารือการแก้ไขปัญหากรณีโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ระหว่าง ผู้ปกครอง โรงเรียน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)



-กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเยียวยาจิตใจนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะส่งนักจิตวิทยาเข้าไปช่วยเหลือ



-สั่งการให้ สช. อำนวยความสะดวกหากผู้ปกครองต้องการย้ายโรงเรียน



-โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ รับผิดทุกอย่างและจะสนับสนุนผู้ปกครองในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย



-ตำรวจจะจัดพื้นที่รองรับเพื่อให้ความสะดวกกับผู้ปกครองที่จะมาร้องทุกข์เพิ่มเติม สอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบกล้องวงจรปิดของโรงเรียน และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากผู้ปกครอง



          ด้านนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สช.ไม่ได้กำหนดให้ห้องเรียนอิงลิชโปรแกรม หรือ ห้องอีพี จะต้องมีพี่เลี้ยงเด็ก และสช.กำหนดว่าห้องเรียนอีพีต้องมีเด็กไม่เกิน 25 คนต่อห้อง จากที่ผู้ปกครองให้ข้อมูลว่าห้องเรียนอีพีมีนักเรียนถึง 34 คน จึงสั่งให้ ศธ.จ.นนทบุรี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พร้อมกับสั่งให้โรงเรียนแก้ไขโดยด่วน นอกจากนี้พบว่า โรงเรียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่นนอกเหนือจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาอีกด้วย ดังนั้นโรงเรียนต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ผู้ปกครองร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนต่อห้อง การเรียกเก็บเงิน การจัดอาหารกลางวันให้นักเรียน ซึ่งสช.จะกำหนดเวลาให้โรงเรียนไปดำเนินการแก้ไข หากโรงเรียนไม่แก้ไข จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ต่อไป



          โรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั่วประเทศ 42 แห่ง สัปดาห์ที่ผ่านมา สช.รับเรื่องร้องเรียนจากโรงเรียนในเครือสารสาสน์ 34 แห่ง เช่น การบูลลี่ การสอนของครู การลงโทษนักเรียน และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น ซึ่งสช.จะตั้งคณะทำงานออกไปตรวจสอบโรงเรียนทุกแห่งเพื่อจัดระเบียบโรงเรียนเหล่านี้ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้วงจรปิดในโรงเรียนเอกชนควรจะมีจอมอนิเตอร์ที่เห็นได้แบบสาธารณะไม่ควรเป็นกล้องวงจรปิดแบบบันทึกแล้วดูย้อนหลังอีกต่อไป




 



 

ข่าวทั้งหมด

X