"นายพีระศักดิ์" ยืนยัน ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี

28 ธันวาคม 2557, 13:54น.


ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี จากการเสนอของสภาผู้แทนราษฎร และเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลภายนอกได้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นการเปิดช่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทอดอำนาจนั้น


นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ระบุว่า ข้อเสนอนี้เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้น ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้และมีกระบวนการอีกมาก กว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนตัวเชื่อว่าคณะกรรมาธิกาายกร่างฯ คงมีเหตุผลที่ได้ข้อสรุปเช่นนี้ และไม่อยากให้ความเห็นเรื่องที่มาของนายกฯในตอนนี้ว่าควรเป็นอย่างไร ขอให้รอดูคณะกรรมาธิการฯ แต่ยืนยันได้ว่า ไม่ได้เป็นการทำเพื่อเปิดช่องให้คสช.หรือผู้นำเหล่าทัพรักษาอำนาจทางการเมืองแน่นอน เพราะได้พูดคุยกับคสช.แล้วพบว่า แค่ต้องการเข้ามาปฎิรูปประเทศให้ก้าวผ่านความขัดแย้งเท่านั้น รวมทั้งจากแม่น้ำทั้ง 5 สายที่คสช.ตั้งขึ้นก็เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คสช.ต้องการทำงานเพื่อประเทศอย่างแท้จริง มั่นใจว่าจะจัดเลือกตั้งได้ตามแผนการทำงานที่วางไว้ 


ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่า จะต้องดีขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มองว่าเป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งหลายอย่าง และเห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะเป็นการสะท้อนความเห็นประชาชน แต่ผู้ที่ตัดสินใจเป็นคสช. ไม่ใช่สนช. ทั้งนี้ หากมีการทำประชามติ คสช.ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ใหม่และต้องผ่านมายังสนช.ด้วย ส่วนการปฎิรูปประเทศ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออกจากปัญหาในอดีตให้ประเทศก้าวไปได้ โดยการปฎิรูปไม่ใช่หน้าที่ของแม่น้ำ 5 สายเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่การออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ยังไม่มีการพูดถึงในขณะนี้  และไม่ทราบว่าจะมีการหารือกันในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 


ส่วนอำนาจของวุฒิสภาที่ดูมีการให้อำนาจมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุผลของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ต้องการสร้างความถ่วงดุลจากสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายบริหาร และยังมองว่าส.ว. ควรมาจากทั้งการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เพื่อให้มีผู้มีความรู้และผู้ที่ได้รับเลือกจากประชาชนอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความถ่วงดุลกันเอง รองประธานสนช.คนที่ 2 ยังระบุว่า การเมืองในอดีตทำให้ส.ว.และส.ส.ลืมหน้าที่ของตัวเอง เพราะผูกติดกับพรรคการเมืองมากกว่าการทำหน้าที่ 


ขณะที่การให้หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย มาจัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ส่วนตัวมองว่า ในอดีตกกต.ก็จ้างบุคคลภายนอกมาจัดเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงไม่แตกต่างกันมากนัก และถือว่าไม่ได้ทำให้กกต.มีอำนาจน้อยลง เพราะผู้นับคะแนนและควบคุมการเลือกตั้งยังเป็นกกต. ทั้งนี้ยังชี้ว่าการให้อำนาจกับบุคคลหรือองค์กรใดมากเกินไป จะทำให้เกิดการผูกขาด และสร้างปัญหาตามมาด้วย 


ส่วนการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในวันนี้ที่จ.มุกดาหาร ถือว่าเป็นที่พอใจ โดยจะนำข้อเสนอและปัญหาต่างๆไปประสานงานร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งในการจัดการงบประมาณและการดำเนินนโยบาย โดยสนช.พร้อมที่จะเป็นสื่อกลางในการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่และรัฐบาล และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง


 


...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร 
ข่าวทั้งหมด

X