3 ยานยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว!กฟผ. นำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าปลายปีนี้ เชื่อมต่อเดินทาง ล้อ ราง เรือ

22 กันยายน 2563, 12:53น.


          การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัว 3 ยานยนต์ไฟฟ้า คือ เรือไฟฟ้าโดยสาร รถยนต์ไฟฟ้า และวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมีการตั้งเป้านำร่องทดลองในเขตพื้นที่ของ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 51 คัน หลังได้ร่วมกับพันธมิตรวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และมุ่งลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนการเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ ราง เรือ  ในงาน “E Trans E” (Electric Transportation of EGAT) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ กฟผ. เป็นประธานปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และร่องเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ โดยมีนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. คณะผู้บริหาร และนายดอม เหตระกูล นักแสดงชาย ผู้ชื่นชอบการขับขี่มอเตอร์ไซค์ เข้าร่วมงานที่ศูนย์การเรียนรู้กฟผ. 





          นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ในปีนี้ กฟผ.มีเป้าหมายนำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อทดลองในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 51 คัน จะเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ประมาณ 100 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กม./ชม. และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปลายปี 2563 โดยหากเสร็จสิ้นการทดลองและวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งหากทดลองทำตามทุกเงื่อนไข กฟผ.ก็จะมอบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป





          ส่วนการพัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้าจำนวน 2 ลำ ที่เปิดตัววันนี้ เป็นเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์/ชม. สามารถแล่นด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 น็อต ระยะทางประมาณ 60 กม./ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยระบบปรับอากาศในห้องโดยสารถูกออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 คน ซึ่งในระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของกฟผ.ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคตเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณฝ่ายปฏิบัติการภาคกลางกฟผ.





          นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า โดยใช้รถยนต์เก่าใช้แล้วมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยชุด EV Kit ที่ กฟผ. และ สวทช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กม./ต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กม./ชม. โดยมีค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดัดแปลงรถยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการดัดแปลงรถเมล์เก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้วของ ขสมก.ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100-250 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร ความเร็วสูงสุดมากกว่า 60 กม./ชม. สามารถรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 80 คน และจะนำไปใช้ทดสอบเดินรถจริงในเส้นทางสาย 543ก (ท่าน้ำนนทบุรี – อู่บางเขน)



           ด้านนายกุลิศ เปิดเผยว่า การเปิดตัวในครั้งนี้หลักๆก็เพื่อทดลอง และเก็บข้อมูลไปศึกษาเพื่อจัดทำ



-สถานีอัดบรรจุไฟฟ้า



-จัดทำพื้นที่การติดตั้งสถานีอัดบรรจุไฟฟ้า เช่น จัดตั้งเท่าไร ระยะห่างกันเท่าไร



-พัฒนาระบบกักเก็บสำรอง แบตเตอรี่



          เพื่อให้ กฟผ.เป็นแหล่งสถานีอัดประจุไฟฟ้าของระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีแผนจัดตั้งเป็นบริษัทนวัตกรรม เพื่อพัฒนาในเรื่องนี้ ตลอดจนการพัฒนาไปสู่ธุรกิจร่วมลงทุนสถานีอัดบรรจุไฟฟ้า คาดว่าการพัฒนาจะเร็วขึ้นเพราะเป็นการต่อเนื่องจากหลายหน่วยงานที่มีการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าไปบ้างแล้ว พร้อมคาดหวังว่าจะร่วมมือกับ PTT Station เพื่อจัดตั้งสถานีฯในปั๊มน้ำมัน



ข่าวทั้งหมด

X