กรมศิลป์-กทม.-ตร. ดำเนินคดีชุมนุม 19-20 ก.ย.เบื้องต้น 16 คน

21 กันยายน 2563, 18:48น.


          การชุมนุมทางการเมือง พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร โฆษก บช.น. พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผบช.น. แถลงข่าวกรณีหมุดของกลุ่มผู้ชุมนุม พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวว่า เที่ยงวันที่ 20 ก.ย. นายสุรเดช อำนวยสาร ผอ.เขตพระนคร ได้รับมอบอำนาจจาก กรุงเทพมหานคร เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดี กรณีมีกลุ่มบุคคลได้ทำลายรั้วเหล็ก และกลุ่มบุคคลบางส่วนได้ขุดเจาะถนนคอนกรีตซีเมนต์ เป็นถนนตัดกลางท้องสนามหลวง ที่มีไว้สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย ข้อหาฐานทำให้เสียหายทรัพย์ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 และเมื่อวันที่ 21 ก.ย.63



          พล.ต.ต.จิรพัฒน์  กล่าวต่อว่า กรมศิลปากรได้ตรวจสอบพบว่ามีการฝังหมุดของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในพื้นที่สนามหลวงอันเป็นโบราณสถานซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อ เติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือมีการขุดค้น สิ่งใดๆ หรือปลูกสร้าง อาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำ ตามคําสั่งของอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ทางพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 426/2563 ลง 20 ก.ย.63



          ด้านพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และ เจ้าหน้าที่ EOD เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวง พบว่า มีทรัพย์สินเสียหายหลายรายการ และพบว่ามี การขุดถนนคอนกรีตซีเมนต์เป็นหลุมกว้างขนาด 1 ฟุต × 1 ฟุต ลึก 2.5 ซ.ม. เพื่อฝังหมุดของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในที่เกิดเหตุ จึงได้ทําการตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดี และนําส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อทําการตรวจพิสูจน์ตามหนังสือ บก.น.1 ที่ 0015(บก.น.1).10/3982 ลง 21 ก.ย.63



          ทั้งนี้ กรมศิลปากร และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณท้องสนามหลวงให้อยู่ในสภาพปกติ กรณีดังกล่าวเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิด อันเป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีการนำหมุดไปวางไว้บริเวณใด แล้วมีผู้เสียหายก็สามารถแจ้งความดำเนินคดี



          ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า หมุดทองเหลืองไม่ได้หายไปไหน แต่ส่งมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจสอบ กรณีถ้าปักหมุดทองเหลืองเพิ่มเติม จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 พื้นที่ 1.หากเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนราชการ เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานใดดูแลอยู่ หากกระทำดังกล่าวดูแล้วมีความผิดตามกฎหมายก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนได้ 2.หากเป็นพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่ส่วนบุคคล การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ฐานบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูลยืนยันจากทางอธิบดีกรมศิลปากร บอกแล้วว่า หมุดนี้ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถที่จะมาไว้ในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์



          พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวว่า ได้แจ้งความร้องทุกข์ความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดตั้งการชุมนุม ส่วนความผิดอื่นๆ อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งการถอดเทปคำปราศรัยต่างๆ การดำเนินการจัดให้มีการชุมนุม ผู้เข้าร่วมบางท่านมีความผิดเรื่องใด ในส่วนของความผิดไม่แจ้งว่า มีการจัดให้มีการชุมนุมมีผู้ที่เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีประมาณ 16 คน ส่วนกรณีที่บุกรุกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์



         พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ท้องสนามหลวงเปิดบริการประชาชนทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. มีทางเข้า-ออก 7 ช่องทาง หลังจากเลิกการชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงแล้ว กทม.นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด สิ่งแวดล้อม เทศกิจ และสำนักบรรเทาสาธารณภัย ทำความสะอาดเคลียร์พื้นที่ ตรวจสอบความเสียหาย และจัดการซ่อมแซม จากการตรวจสอบพบทรัพย์สินเสียหาย ได้แก่ รั้วเหล็กสีเขียว 7 แผง กุญแจใช้คล้องรั้วเหล็กให้ติดกันเป็นแผงจำนวน 92 ดอก พื้นปูนซีเมนซ์กลางสนามหลวงถูกขุดเจาะขนาดกว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต มีแผ่นโลหะสีเหลืองฝังอยู่ ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบอาจจะมีต้นไม้สนามหญ้า คิดเป็นจำนวนเงินไม่มาก ถ้าพบเพิ่มเติมก็จะมอบหมายให้ ผอ. เขตพระนคร เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมหรือผู้กระทำผิด เบื้องต้นแจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ข้อหาทำให้เสียหาย  ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์



          ด้านนายสถาพร ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า  สนามหลวงเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ การนำหมุดไปติดตั้งหมุดดังกล่าวไม่ได้มีประวัติเกี่ยวข้องกับพื้นที่หรือสนามหลวง ฉะนั้นการนำมาติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร มีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ม.4 ห้ามผู้ใด ซ่อมแซมแก้ไขเปลี่ยนแปลงรื้อถอนต่อเติมทำลายเคลื่อนย้ายโบราณสถาน ส่วนต่างๆของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณ โบราณสถาน ตนได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมศิลปากร ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.ชนะสงคราม เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากกระทำการในพื้นที่โบราณสถานโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร  



 

ข่าวทั้งหมด

X