ศบศ.เตรียมเสนอเปิดประเทศต่างชาติเข้าไทย ประสานประเทศต้นทางกักตัวก่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

21 กันยายน 2563, 16:15น.


          มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบศ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยืนยัน ศบศ.ซึ่งมีคณะทำงานจากภาคเอกชน ภาครัฐ มีมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว มาช่วยกันดูและผลักดันให้เกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งทยอยออกมาไม่ให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังล็อกดาวน์เป็นแบบรูปตัวแอลลากยาว  โดยอยากจะเห็นว่าจีนฟื้นเศรษฐกิจเป็นตัววี ไทยก็อยากจะเห็นเป็นเช่นนั้น



          ขณะเดียวกันจะเสนอ ศบค.ว่าไทยควรจะใช้รูปแบบเดียวกับสิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น คือ เปิดประเทศให้เข้า โดยให้ประเทศต้นทางทำการกักตัว (State Quarantine) 14 วัน แทนที่จะเข้ามาทำในไทย หากเป็นรูปแบบนี้ก็จะค่อยเปิดประเทศรับทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มขึ้น  เช่น นักธุรกิจญี่ปุ่น ปัจจุบัน 1 สัปดาห์  ศบค.อนุญาตให้บินเข้าไทย 1 ลำ ประมาณ 200 คน ซึ่งนับว่าน้อย อย่างไรก็ตาม ครอบครัวนักธุรกิจก็ต้องการเข้ามาพักผ่อน  เพราะเมืองไทยปลอดภัย หากไทยอนุมัติให้เข้าแบบ LONG STAY ก็จะช่วยเพิ่มรายได้แก่ประเทศ  



          นอกจากนี้ ในการกระตุ้นระยะสั้นจากผลกระทบนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดหาย ซึ่งปกติจะสร้างรายได้แก่ไทยประมาณ  2 ล้านล้านบาท/ปี และคนไทยท่องเที่ยว 1 ล้านล้านบาท/ปี  ดังนั้น เดือนตุลาคมนี้จะออกโปรแกรมบังคับเที่ยว (FORCE TOURISM) ในช่วงวันอาทิตย์-พฤหัสบดี เช่น ขอให้กลุ่ม ปตท.และอีกหลายบริษัทจะให้พนักงานไปทำงาน หรือเที่ยว เช่นเดียวแบบการทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟอร์มโฮม) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังประสานไปยังโรงแรมต่าง ๆ ให้ส่วนลดค่าห้องเป็นพิเศษ และเงินก็จะจ่ายตรงไปยังโรงแรม ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นการจ้างงานก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันเดือนพฤศจิกายน



          ส่วนโรงแรมใน กทม.ขณะนี้พบว่า มีปัญหาอย่างหนัก เพราะต่างชาติไม่เข้ามา ส่วนนักท่องเที่ยว กทม.ก็ไป ต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งที่จะมีการเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. คือ จะขอให้เปิดให้คนไทยในต่างชาติกลับมาเพิ่มขึ้นจาก 300 คน/วัน เป็น 600 คน/วัน เป็นการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนที่ยังตกค้างหลายหมื่นคน และเมื่อกลับมาต้อง State Quarantine 14 วัน รัฐออกเงินให้ 1,000 บาท/วัน โรงแรมเหล่านี้ก็พร้อมเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น



          ก่อนหน้านี้ ศบศ. ได้ออกมาตรการระยะสั้น เช่น  มาตรการคนละครึ่ง ก็จะเป็นการสร้างตลาดให้เอสเอ็มอี สามารถขายสินค้าได้ ช่วยหาบเร่แผงลอยขายของได้  การจ้างงานให้กับเด็กจบใหม่ปีละ 400,000 คน ซึ่งจะมีแนวทางจ้างงาน  200,000 คนที่รัฐจะร่วมออกเงินครึ่งหนึ่งในวงเงินว่าจ้าง 15,000 บาท/เดือน ออกให้เป็นเวลา 1 ปี ขณะที่เอกชนก็ร่วมจ้างด้วย เช่น กลุ่มซีพี  กลุ่ม ปตท.ที่ทยอยประกาศจ้างงานออกมาหลายหมื่นคน         



          มาตรการระยะยาว ได้เร่งกระตุ้นการลงทุนตามเมกะโปรเจกต์ โดยที่ประชุม ศบศ.เมื่อวันอังคารที่แล้ว เห็นชอบให้เร่งกว่า 30 โครงการมูลค่าแสนล้านบาท  และในวันที่ 2 ตุลาคม จะเสนอโครงการสะพานไทยเชื่อมต่อโครงการอีอีซีภาคตะวันออกไปยังภาคใต้ สร้างเป็นอุโมงค์สะพานเชื่อมระหว่างจังหวัดชลบุรีไปยังจังหวัดเพชรบุรี หรือประจวบคีรีขันธ์  ความยาว 80 กม. เช่นเดียวกับอ่าวโตเกียวของญี่ปุ่น  หรือจีนที่เปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง- มาเก๊า- จูไห่  เป็นการย่นระยะทางระหว่างการเดินทาง 2 ฝั่ง เป็นการนำความเจริญจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ เบื้องต้นคาดลงทุน 900,000  ล้านบาท ลงทุนประมาณ 10 ปี



 



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X