'หมอยง' เผยการตรวจโควิด-19 ด้วย PCR แม้จะสะดวก แต่อาจมีผลบวกปลอมเกิดขึ้นได้

20 กันยายน 2563, 07:40น.


      ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อธิบายเกี่ยวกับการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธีการ PCR ในปัจจุบัน แม้จะมีความสะดวก แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกปลอมได้ จึงต้องมีการตรวจแอนติบอดีร่วมด้วยเพื่อยืนยันผลการตรวจ


          โดยระบุว่า "โควิด-19 กับการตรวจวินิจฉัยด้วย PCR  กับการติดเชื้อหรือความรุนแรงของโรคหรือไม่


ทุกวันนี้เราตรวจวินิจฉัยหาผู้ติดเชื้อด้วยวิธี real time PCR เป็นวิธีการตรวจที่มีความละเอียดและความไวสูงมาก เป็นการตรวจหา RNA ส่วนหนึ่งของไวรัสเท่านั้น ไม่ได้ตรวจไวรัสทั้งตัว


การตรวจพบจึงแยกไม่ได้ว่าไวรัสนั้นยังมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต สามารถแพร่กระจายโรคได้หรือไม่ได้


และไม่ได้บอกความรุนแรงของโรค


โดยทั่วไปการจะบอกว่าไวรัสมีชีวิต จะทำได้โดยเพาะเชื้อ culture ดูว่าไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้หรือไม่


ส่วนใหญ่ไวรัสจะยังมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนมีอาการ และหลังมีอาการแล้วระยะหนึ่งอาจจะเป็น 7-10 วัน หลังจากนั้นโอกาสที่จะแพร่กระจายโรคก็จะเริ่มลดลง แต่จะยังตรวจพบ RNA ของไวรัสอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง ในบางรายอาจอยู่นานเป็นเดือน หลายคนเรียกว่า ซากไวรัส 


ในการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันยังใช้ PCR  เพราะถือเป็นวิธีที่ไวที่สุดและง่ายกว่าการเพาะเชื้อเลี้ยงไวรัส 


การตรวจด้วย PCR สามารถบอกเชิงปริมาณ โดยดูค่า Ct หรือ cycle threshold เป็นตัวเลขที่บอกถึงการขยายปริมาณ virus ไปกี่รอบแล้วจึงจะตรวจพบ 


ถ้ามีไวรัสน้อย ต้องขยายจำนวนมากจึงจะตรวจพบ Ct ก็จะสูง 


ทั่วไปแล้ว ขยายเกิน 30 รอบหรือค่า Ct เกินกว่า 30 จะมีไวรัสจำนวนน้อยโอกาส แพร่กระจายโรคก็น้อย ถ้าขยายถึง 40 รอบแล้วยังตรวจไม่พบก็ถือว่าไม่มีไวรัสหรือผลเป็นลบ 


ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ใน state quarantine จะมีปริมาณไวรัสค่อนข้างน้อยและไม่ค่อยมีอาการของโรค 


อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีอาการแต่มีปริมาณไวรัสมาก หรือมีค่า Ct ต่ำ


บุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสแพร่เชื้อได้สูงดังที่เราเห็นใน super spreader


การตรวจด้วย PCR เมื่อมีความไวสูงก็มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกปลอมได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีค่า Ct ใกล้ 40  หรือมากกว่า 35  เช่นผู้ป่วยรายหนึ่งการตรวจ 3 ห้องปฏิบัติการ  4 วิธีให้ผลลบ แต่อีกห้องปฏิบัติการ 1 ให้ผลบวก จะแปลผลอย่างไร ในทางปฏิบัติจะเอาแอนติบอดีมาช่วย และวิธีติดตามคนไข้ มากกว่ายึดถือกระดาษแผ่นเดียว


...


แฟ้มภาพ
ข่าวทั้งหมด

X