กรมชลฯ คว้า 3 รางวัลเลิศรัฐ ต่อยอดโครงการจัดการน้ำฝายแม่ลาว จ.เชียงราย-ท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารน้ำสถานีสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ

16 กันยายน 2563, 14:07น.



        กรมชลประทาน คว้า 3 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นับเป็นรางวัลเกียรติยศที่สำคัญของกรมชลประทานที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศทั้งในด้านการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ





-รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประเภทรางวัลเลื่องลือขยายผล ได้แก่ ผลงานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ที่ฝายแม่ลาวฝั่งขวา จังหวัดเชียงราย (ต้นแบบดอยงู) ซึ่งเป็นผลงานที่ดำเนินงานจากการพัฒนาต่อยอดจากผลงานการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำดอยงู จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นต้นแบบที่เคยได้รับรางวัล และนำไปขยายผลต่อยอดจนประสบความสำเร็จ



-รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทรางวัลสัมฤทธิผล ประชาชนมีส่วนร่วม ได้แก่ ผลงานการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของสถานีสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี





-รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ (JMC) จังหวัดสระบุรี ผลงานการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของสถานีสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี  ที่ล้วนเป็นผลจากการดำเนินการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งกลุ่ม JMC หรือ คณะกรรมการจัดการชลประทาน (Joint Management committee for Irrigation) ทั้งในระดับโครงการ และระดับฝ่าย เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างทั่วถึง สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานราชการกับประชาชน





          นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การได้รางวัลแสดงให้เห็นผลของการทำงาน เนื่องจากปีนี้มีโรคระบาด กรมชลประทาน จึงเน้นย้ำเป็นพิเศษว่าประชาชน องค์กร ต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนบำรุงรักษา ซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันถึง 2 ด้าน ความประหยัด และความสำนึกในการรับผิดชอบสมบัติของตัวเอง





          สำหรับรางวัลเลิศรัฐ โดยเฉพาะรางวัลแรกที่เรียกได้ว่าเป็น รางวัลเลื่องลือขยายผลในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นการนำผลปฏิบัติงานจากพื้นที่ 10,000 ไร่ ที่ฝายแม่ลาวฝั่งขวา จังหวัดเชียงราย ขยายเป็น 100,000 ไร่ ทำให้มีการแบ่งปันการใช้น้ำ รวมถึงประหยัดงบประมาณค่าบำรุงรักษาด้วย



          ขณะที่ มีความร่วมมือในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ที่เกษตรกรช่วยเหลือ ดูแลค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่นค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา ซึ่งเป็นจุดที่สามารถประหยัดงบประมาณได้มาก สุดท้ายเป็นการให้บริการ ซึ่งเตรียมขับเคลื่อนตลาดการผลิตน้ำที่ประชาชนได้รับประโยชน์ และมีความสุข เช่น จะทำอย่างไรให้น้ำ1หยด ประชาชนสามารถนำไปขายได้ ตามแนวทางนโยบายดำเนินงานตามแนวทาง RID No.1 เน้นมีส่วนร่วมทั้งประเทศ




 

ข่าวทั้งหมด

X