แพทย์จุฬาฯ ยังย้ำ คนไทยต้องช่วยกันป้องกัน ไม่ให้โควิด-19ระบาดซ้ำ

14 กันยายน 2563, 09:21น.


          การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา หลังจากเมื่อวานนี้ มียอดผู้ติดเพิ่มไปถึง 337 คน หากติดตามมาตลอดเราจะพบว่ายอดติดเชื้อต่อวันมีแนวโน้มสูงขึ้นแบบ exponential...เชื่อว่าเราทุกคนเอาใจช่วยให้เมียนมาควบคุมโรคได้โดยเร็ว นอกจากนั้น ในประเทศมีคนติดเชื้อแล้วหลายราย และสายพันธุ์ไวรัสเปลี่ยนจากเดิมไปเป็นสายพันธุ์ G ที่แพร่ง่ายขึ้นกว่าเดิม



          ดังนั้น ความสำคัญของมาตรการต่างๆ ที่ประชาชนและรัฐควรทำเพื่อป้องกันการระบาดซ้ำในประเทศ



-หนึ่ง จังหวัดชายแดนและข้างเคียง หากเห็นคนต่างด้าวแปลกหน้า ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ทราบและไปตรวจสอบ



-สอง เจ้าของครัวเรือน รวมถึงธุรกิจห้างร้านเล็กกลางใหญ่ และโรงงานต่างๆ โปรดคิดไว้ก่อนว่าแรงงานต่างด้าวที่รับเข้ามาทำงานอาจมีการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 โดยไม่ทราบ หรือไม่มีอาการ ดังนั้นจึงควรส่งไปตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลในพื้นที่ และควรใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย



-สาม รัฐควรพัฒนาระบบบริการตรวจโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด และมีบริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งในสถานพยาบาล รถโมบาย และจุดบริการนอกโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นง่ายขึ้น โดยให้สามารถเบิกจ่ายได้จากทุกกองทุนสุขภาพและไม่ติดเงื่อนไขว่าต้องมีอาการ



-สี่ รัฐควรทบทวนนโยบายการนำเข้ากลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศ โดยเน้นเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าว ควรพิจารณาปรับให้คนไทยที่กำลังหางานมาทำทดแทนหากเป็นไปได้ เช่น การสอนภาษา ฯลฯ



-ห้า สำคัญที่สุดคือ การระงับ ยุติ หรือชะลอการวางแผนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ สถานการณ์ระบาดรุนแรงทั่วโลกเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง



          สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 237,833 คน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 29,153,843 คน



-สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 1  ติดเชื้อเพิ่ม 35,189 คน รวม 6,706,219 คน



-อันดับ 2 อินเดีย ติดเชื้อเพิ่ม 93,215 คน รวม 4,845,003 คน



-อันดับ 3 บราซิล ติดเชื้อเพิ่ม 14,768 คน รวม 4,330,455 คน



-และอันดับที่  4 รัสเซีย ติดเชื้อเพิ่ม 5,449 คน รวม 1,062,811 คน



 



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X