*ธปท.ปรับจีดีพีปีหน้าเหลือ 4% คาดส่งออกเป็นบวก จากติดลบช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้*

26 ธันวาคม 2557, 16:52น.


การเปิดเผยรายงานการเงินฉบับเดือนธ.ค. 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้ ใหม่เหลือร้อยละ 0.8 จากเดิมที่คาดไว้ ร้อยละ1.5 ส่วนปีหน้าลดเหลือร้อยละ 4 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ถึงร้อยละ 4.8 พร้อมทั้งลดเป้าหมายมูลค่าการส่งออก เป็นติดลบร้อยละ 0.5 ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวได้ร้อยละ 1 ในปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าจะโตถึงร้อยละ 4 ส่วนการนำเข้าปีนี้ติดลบร้อยละ 7.5 จากเดิมที่คาดว่าติดลบร้อยละ 6.8 ส่วนปีหน้า คาดว่าจะโตร้อยละ 4  โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้า ยังขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะกลุ่มยูโร และญี่ปุ่น ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออก ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ อีกทั้งรายได้เกษตรกรก็ลดลง ตามราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือนมากกว่าที่คาดไว้ และมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติช้ากว่าที่เคยประเมินไว้  ด้านจีดีพีไตรมาส 4 นี้ยังมองว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภค การใช้จ่าย และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนยังฟื้นตัวช้า เช่นเดียวกับการส่งออก ขณะที่ไตรมาสแรกปีหน้า คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4    คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันยังผ่อนปรนเพียงพอต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวปี 2558 จะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ จากข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจเลื่อนการลงทุนออกไป ขณะที่การส่งออกมีความเสี่ยงมากขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่ต่ำลงจนน่ากังวลเพราะเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลง เป็นสำคัญ และเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยความเสี่ยงสะสมจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาระยะหนึ่งยังอยู่ในวงจำกัด คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี ทั้งนี้ ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นสอดคล้องกันว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรน เพื่อช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้เป็นไปได้ตามเป้าหมาย



 CR:แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X