สอจร.ศึกษาการทำงานของจังหวัดภูเก็ตหลังประสบความสำเร็จมีอุบัติเหตุลดลงต่อเนื่อง

12 กันยายน 2563, 19:31น.


          การจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต ประสบผลสำเร็จลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนจากเดิมปีละกว่า 200 ราย หรือมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่ 1-5 ของประเทศติดต่อกันกว่า 20 ปี ลดลงเหลือต่ำกว่า 150 ราย/ปี (คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท) หลังได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภายในภายนอก รวมทั้งองค์กรในและต่างประเทศ ได้แก่ มูลนิธิ Safer Roads, องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และมูลนิธิบลูมเบิร์ก (Bloomberg Philanthropies) ร่วมกันแก้ไขปัญหา




          วันนี้แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยนพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ WHO ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธานแผนงาน สอจร. ลงพื้นที่จ.ภูเก็ต ศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการจัดการอันตรายบนถนนของจังหวัด เช่น หน้าโรงเรียนบริติชซึ่งเป็น 1 จุดเสี่ยงในภูเก็ต และได้รับการปรับภูมิทัศน์ใหม่ เส้นทางหาดป่าตอง โดยเฉพาะอุโมงค์ทางลอดห้าแยกฉลอง ซึ่งเป็นอุโมงค์ความยาว 350 เมตร ภายในอุโมงค์มีเส้นทางโค้ง มีป้ายเตือน เส้นชลอความเร็วก่อนถึงจุดเสี่ยง มีเส้นทางเชื่อมผ่านหลายแห่ง เช่น เข้าเมืองสองเส้นทาง,ไปท่าเรือเพื่อลงไปเที่ยวเกาะต่างๆ,ไปหาดกะตะ หาดกะรน ไปแหลมพรหมเทพ ไปหาดราไวย ซึ่งเดิมเป็น 5 แยกธรรมดา การจราจรหนาแน่น มีอุบัติเหตุบ่อยจนถึงกับต้องเปิดโรงพยาบาลอีกหนึ่งแห่งคือโรงพยาบาลฉลอง เป็นโรงพยาบาลชุมชน 




          แม้จะมีความพยายามแก้ไขปรับปรุงสภาพถนน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเส้นทาง ทำวงเวียน ติดตั้งป้ายเตือน แต่ก็ยังไม่สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ แต่หลังจากการศึกษาข้อมูลทุกอย่างพบว่าการทำอุโมงค์ทางลอดจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ จึงได้ก่อสร้างอุโมงค์ขึ้น และสามารถลดความรุนแรง ลดการเกิดอุบัติเหตุได้จริง




           นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า หลังร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการจัดการอันตรายบนถนนอย่างจริงจังกับปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ปี 2551 ได้แก่ การเริ่มต้นนำข้อมูลและพัฒนาระบบข้อมูล MIS Ranking มาใช้ วิเคราะห์สถานการณ์ และสร้างภาคีเครือข่ายในจังหวัด มีการทำมาตรการองค์กร มีการสื่อสารสู่สาธารณะ ปลูกฝังวินัยจราจรในกลุ่มเด็กเล็กจนถึงเยาวชน ตลอดจนเกิดนโยบายของจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำหนดอย่างชัดเจนว่า จะมีการจัดการด้วยนโยบายลดการสูญเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 50 รายในปี 2563 เท่ากับเป็นการเปลี่ยนจาก “ความเสี่ยง” เป็น “นโยบาย” สู่การ “ลงมือทำ” แบ่งการจัดการต่างๆ และเป็นเกิดผลสำเร็จดังนี้


-มีระบบ Red Light Camera ซึ่งตรวจจับการสวมหมวกนิรภัย ความเร็ว การฝ่าไฟแดง เครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อป้องกันการบรรทุกเกินและอุบัติเหตุรถตกเขา


-นำเทคโนโลยีมาใช้ พัฒนาระบบสัญญาณและสัญลักษณ์จราจรทั่วจังหวัด เปิดสัญญาณไฟตลอด 24 ชม.เพราะอุบัติเหตุมักเกิดช่วงกลางคืน


-การแก้ไขจุดเสี่ยง ด้วยการลงมือแก้ไขปัญหาจากวิศวกรรมจราจรด้วยความร่วมมือของทางหลวงจังหวัด และ ทางหลวงชนบท ท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงตอนนี้ได้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงมากกว่า 200 จุดทั่วจังหวัด


-การแก้ไขด้านวิศวกรรมจราจร เช่น การปิดจุดกลับรถ การทำ speed hump and rumble strip พร้อมป้ายเตือนความเร็ว ป้ายสะท้อนแสงเข้าโค้ง (shevron) การติดตั้งไฟจราจรในทางแยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย การติดตั้งไฟเตือนและแสงสว่าง และการทำวงเวียน 


          ส่วนในด้านเทคโนโลยี จ.ภูเก็ต ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก Safer Roads ทำให้มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ เช่นระบบ Red Light Camera ซึ่งตรวจจับรถบรรทุกเพื่อป้องกันการบรรทุกเกินและอุบัติเหตุรถตกเขา และป้ายเตือนต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่สร้างความปลอดภัย ตลอดจนลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างชัดเจน


.....
ข่าวทั้งหมด

X