การพิจารณาถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในการร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า กำหนดให้มีส.ว.ไม่เกิน 200คน มีที่มาจาก 5 ทางเลือก ประกอบด้วย อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานวุฒิสภา อดีตข้าราชการในตำแหน่งสำคัญๆ และอดีตผู้นำเหล่าทัพ ประธานองค์กรวิชาชีพ ภาคประชาชน และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพ โดยอาจใช้การเลือกตั้งทางอ้อม นายคำนูณ ยังระบุว่า คณะกมธ.ต้องการให้ส.ว.มีรูปแบบพหุนิยม มีที่มาจากหลายฝ่าย และทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างแท้จริง โดยคณะกมธ.ยังมีแนวทางเสนอให้ส.ว.มีสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายและพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของประเทศได้ และจะให้ร่วมกับสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติในการตรวจสอบคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีก่อนเข้ารับคำแหน่ง และมีสิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร แต่จะต้องมีเสียงถอดถอนร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรแล้วมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ส่วนนายกฯมีที่มาตามเดิม คือ มาจากการเสนอชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นที่จะต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดตามมา และสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิที่จะเสนอชื่อบุคคลภายนอกมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนนายกรัฐมนตรีจะต้องส่งรายชื่อของคณะรัฐมนตรีหรือ ครม.ให้วุฒิสภาพิจารณาประวัติก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีได้ด้วย และจะบัญญัติให้วุฒิสภามีสิทธิในการพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมและมีสิทธิไม่อนุมัติรายชื่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีด้วย
ธีรวัฒน์