ทางการอิหร่านตกลงให้ผู้ตรวจสอบของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ เข้าตรวจสอบสถานที่ 2 แห่งที่มีข้อสงสัยว่าเป็นโรงงานนิวเคลียร์ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีข้อสงสัยมาอย่างยาวนานเกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ โดยเมื่อวันจันทร์ (24 ส.ค.) นายราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ไอเออีเอเดินทางไปยังกรุงเตหะราน เพื่อขอคำปรึกษากับนายอาลี อัคบาร์ ซาเลมี หัวหน้าองค์การพลังงานปรมาณูแห่งอิหร่าน และเมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) ทั้ง 2 ฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา โดยอิหร่านยินยอมให้ไอเออีเอ เข้าถึงสถานที่ 2 แห่งที่ระบุไว้ พร้อมอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ
การที่อิหร่านไม่เปิดเผยสถานที่ทั้ง 2 แห่งและปฏิเสธการเข้าถึง ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมากขึ้น โดยไอเออีเอคาดว่าโรงงานทั้ง 2 แห่งจะมีการทำงานตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่อิหร่านบรรลุข้อตกลงครั้งสำคัญกับมหาอำนาจโลก ในการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ แม้อิหร่านจะยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไอเออีเอมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอิหร่านมีการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์จนถึงปี 2546
โดยในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการปกป้องซึ่งเผยแพร่ในเดือนมิถุนายนไอเออีเอได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้และการเก็บรักษาวัสดุนิวเคลียร์ และการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ในสถานที่ 2 แห่ง ซึ่งอาจถูกใช้สำหรับการแปรรูปและการเปลี่ยนแร่ยูเรเนียมในปี 2546 ซึ่งในปี 2547 พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสถานที่โดยมีการรื้อถอนอาคารส่วนใหญ่ออกไป และทำให้มีความกังวลว่าอาจมีการเคลื่อนย้าย, ใช้งาน, เก็บรักษาวัสดุนิวเคลียร์ในสถานที่แห่งที่ 3
...