หลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการฯ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานฉบับเต็มรายงานต่อนายกรัฐมนตรี วันที่ 30 ส.ค.นี้ ตามกรอบ 30 วัน ส่วนการประชุมวันนี้ ยังมีบางประเด็นยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีเวลาน้อย เช่น ยังไม่สามารถระบุความผิดถึงตัวบุคคลได้ แต่ในรายงานสามารถระบุรายชื่อบุคคลซึ่งมีพฤติกรรมบกพร่องได้ ซึ่งจะให้หน่วยที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพิ่มเติม ขณะเดียวกันจะต้องดูอำนาจผู้บังคับบัญชาด้วยว่ามีส่วนรับผิดชอบอย่างไร
ในเบื้องต้น นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับรายงาน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือ การเป็นหัวหน้าองค์กรสูงสุด จะต้องรับผิดชอบหากมีข้อบกพร่อง แต่หากสั่งการแล้วปัดความรับผิดชอบถือว่าทำไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ แม้ไม่ผิดในทางกฎหมายแต่อาจผิดจริยธรรม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกดำเนินการเหมือนกัน ส่วนจะรุนแรงถึงระดับนายพลหรือไม่ ยังไม่ได้ลงรายละเอียด
ดังนั้นคดีนี้ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีใครบ้างที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะการกระทำส่อแสดงให้เห็นพฤติกรรม และไม่ขอตอบว่าบุคคลที่เข้าข่ายผิดฯ จะอยู่ในส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นส่วนของตำรวจหรืออัยการ
นายวิชา กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์คือความเห็นจากอดีตอัยการสูงสุดถึง 4 ท่าน ที่ช่วยตรวจสอบข้อบกพร่องในคดี โดยลงความเห็นพบจุดบอดชัดเจน ดังนั้นรายละเอียดต้องศึกษาทางด้านกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งเหลือเวลาอีก 5 วัน แต่รายงานฉบับนี้ ยังไม่ลงถึงการปฏิรูปกฎหมาย เพราะจะเสนอต่อเวลาอีก 30 วัน จึงขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา เพราะต้องประกอบร่างพระราชบัญญัติสอบสวนคดีอาญา
ส่วนการออกหมายแดงที่กองการต่างประเทศถอนออก กระทั่งปัจจุบันไม่มีหมายแดงแล้ว เรื่องนี้พนักงานสอบสวนสน.ทองหล่อ จะต้องประสานไปยังตำรวจสากลอีกครั้ง เพราะมีการออกหมายจับใน 3 ข้อหาแล้ว ส่วนคณะกรรมการจะสอบถามอีกครั้งด้วยว่า ดำเนินการขอหมายแดงหรือยัง สำหรับประเด็นนี้ยอมรับว่ามาจากการทำข้อมูลของคณะกรรมการสางคดีชุดนี้ด้วยส่วนหนึ่งที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ให้ข้อมูลด้วย
สำหรับประเด็นผู้ถอนหมายแดง พบข้ออ้างว่าเป็นไปตามวิธีปฏิบัติ เมื่ออัยการไม่สั่งฟ้อง กระบวนการถอนหมายแดงจึงเกิดขึ้น ทั้งที่รู้ว่าหมายจับในประเทศไทยยังมีอยู่ และยังไม่ถูกยกเลิก กลายเป็นว่ากองการต่างประเทศเชื่อเจ้าหน้าที่สอบสวน สน.ทองหล่อ มากกว่า
นอกจากนั้น ในคดีนี้มีผู้ร้องให้สอบเส้นทางการเงิน ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งหมดมาก่อนหน้านี้แล้ว คณะกรรมการชุดนี้จึงไม่ต้องส่งรายเอียดเพิ่มเติมและเป็นหน้าที่ของ 2 หน่วยงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)
ส่วนความคืบหน้าการเสียชีวิตของ นายจารุชาติ มาดทอง พยานปากสำคัญของคดีนี้ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งแยกสอบเป็นสองกรณี คือ กรณีที่ 1 การเกิดอุบัติเหตุ ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่กรณีที่ 2 พบความผิดปกติในพฤติกรรมของเพื่อนและคนรอบข้างจากโทรศัพท์มือถือที่ถูกทำลาย จึงเป็นข้อสงสัยที่ตำรวจกำลังสอบหาข้อเท็จจริง รวมทั้งเส้นทางการเงินด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะมีการประชุมอีกครั้งในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (28 ส.ค.) ช่วงบ่าย ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาคารเทเวศน์