โรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19คิวทอง ไทยเลื่อน1-2เดือน ทดลองวัคซีนในคนจากต.ค.ปีนี้

26 สิงหาคม 2563, 15:29น.


         การผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชนิด mRNA  ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากรัฐบาล นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA  ของไทย ให้ผลทดลองในหนูสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 50,000 ไตเตอร์ ผลการทดลองในลิงก็กระตุ้นภูมิได้ถึง 30,000 ไตเตอร์ อยู่ระหว่างรอผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อทดลองในคนระยะที่ 1 ซึ่งตามแผนเดิมจะเดินหน้าทดลองในคนระยะที่ 1 ประมาณเดือนต.ค. แต่ขณะนี้วัคซีนที่มีการวิจัยในโลกกว่า 200 ชนิด และมีกว่า 140 ชนิด ที่อยู่ในขั้นการทดลองในสัตว์ และ 42 ชนิดที่มีเริ่มทดลองในคนแล้ว ทำให้โรงงานผลิตวัคซีน คิวทองมาก จากที่เราตั้งใจว่าจะผลิตวัคซีนต้นแบบ 10,000 โดส เพื่อเดินหน้าทดลองในคนในเดือนต.ค.นี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปประมาณ 1-2 เดือน คาดว่า จะแล้วเสร็จและเดินหน้าผลิตได้ในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปี 2564 



          ส่วนเรื่องอาสาสมัคร ขอให้รอคณะกรรมการกลาง คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจเรื่องความปลอดภัย เรื่องมาตรฐาน จากนั้นต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยในคนต่อไป หากพร้อมแล้วถึงจะประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ 



          สำหรับการทดลองในคนจะแบ่งการทดลองรอบแรกในคนที่มีอายุ 18-55 ปี แบ่งเป็นกลุ่มละ 12 คน เพื่อหาขนาดและความปลอดภัย จากนั้นถึงจะขยับมาที่กลุ่มอายุ 65-75 ปี อีก 48 คน เพื่อดูเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ก่อนที่จะขยับไปสู่การทดลองระยะที่ 3 แต่เนื่องจากขณะนี้ มีวัคซีนหลายชนิดในโลกที่เริ่มทดลองในคน ซึ่งหลายๆ ชนิด ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันหากของเขาสำเร็จก่อน ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญของไทย ที่อาจจะข้ามการทดลองในคนในระยะที่ 3 ได้



          ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่ครม.อนุมัติงบประมาณเรื่องการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 600 ล้านบาท สำหรับการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ขณะนี้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือการเจรจาแล้ว ส่วนอีก 400 ล้านบาท ใช้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคได้เร็วที่สุด

ข่าวทั้งหมด

X