กรมชลฯ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่ม หลังครม.อนุมัติ 8 โครงการ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เสนอแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 5,890 ล้านบาท ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย
1.) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง ซึ่งมีแผนเตรียมความพร้อมในปี 2564 และเตรียมบรรจุเข้าแผนก่อสร้างในปี 2565 ต่อไป
2.) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
3.) โครงการอ่างเก็บน้ำเขาจอมแห-เขานั่งยอง จังหวัดระยอง
4.) โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบางไผ่ จังหวัดชลบุรี
5.) โครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง จังหวัดฉะเชิงเทรา
6.) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระพง จังหวัดฉะเชิงเทรา
7.) โครงการประตูระบายน้ำคลองท่าลา จังหวัดฉะเชิงเทรา
8.) โครงการศึกษาสำรวจออกแบบระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
ครม.ได้อนุมัติในหลักการตามที่กรมชลประทานเสนอทุกโครงการ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เน้นย้ำว่า ทุกอย่างจะต้องทยอยดำเนินการทีละขั้นตอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทาน จะได้ดำเนินการโครงการต่างๆดังกล่าว ตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
รมว.ดีอีเอส ชี้แจง เฟซบุ๊ก ลบรายการ 1,129 รายการ ไม่เกี่ยวกับการเมือง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงชี้แจงกรณีที่เฟซบุ๊กสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ เตรียมดำเนินการตามกฎหมายกับรัฐบาลไทยว่าทำผิดหลักสากลเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออก หลังจากที่กระทรวงดีอีเอส ขอให้เฟซบุ๊กบล็อกเพจ หรือบัญชีผู้ใช้ที่โพสต์เนื้อหาที่พาดพิงสถาบัน เบื้องต้น นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า เฟซบุ๊ก ลบรายการ 1,129 รายการที่ทางการไทยส่งไปให้พร้อมแนบคำสั่งศาล ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊ก เข้าใจถึงกระบวนการของไทยและไม่น่าจะฟ้อง มองอีกมุมว่า เป็นเรื่องดีที่เฟซบุ๊กลบทุกรายการที่ร้องขอไป รายการที่แจ้งให้ลบมีข้อมูลหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่หมิ่นสถาบัน การหลอกลวง แชร์ลูกโซ่ การโฆษณาหลอกลวงขายของที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เป็นต้น ยืนยันว่า ไม่ได้รังแกกลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกในแพลตฟอร์มหรือรายการที่ถูกลบ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะได้รับข้อมูลจากประชาชนและส่งต่อให้ตำรวจดำเนินคดี
ไทย เลื่อนการทดลองวัคซีนในคนจากต.ค.ออกไปก่อน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หารือร่วมกับ นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อหารือกันถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากรัฐบาล
นายอนุทิน กล่าวว่า หลังจากที่ครม.อนุมัติงบประมาณเรื่องการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 600 ล้านบาท สำหรับการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ขณะนี้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือการเจรจาแล้ว ส่วนอีก 400 ล้านบาท ใช้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคได้เร็วที่สุด
ด้าน นพ.เกียรติ เปิดเผยผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA ของไทย ให้ผลทดลองในหนูสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 50,000 ไตเตอร์ ผลการทดลองในลิงก็กระตุ้นภูมิได้ถึง 30,000 ไตเตอร์ อยู่ระหว่างรอผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อทดลองในคนระยะที่ 1 ซึ่งตามแผนเดิมจะเดินหน้าทดลองในคนระยะที่ 1 ประมาณเดือนต.ค. แต่เนื่องจากขณะนี้วัคซีนที่มีการวิจัยในโลกกว่า 200 ชนิด และมีกว่า 140 ชนิด ที่อยู่ในขั้นการทดลองในสัตว์ และ 42 ชนิดที่มีเริ่มทดลองในคนแล้ว ทำให้โรงงานผลิตวัคซีน คิวทองมาก จากที่เราตั้งใจว่าจะผลิตวัคซีนต้นแบบ 10,000 โดส เพื่อเดินหน้าทดลองในคนในเดือนต.ค.นี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปประมาณ 1-2 เดือน คาดว่า จะแล้วเสร็จและเดินหน้าผลิตได้ในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปี 2564
ส่วนเรื่องอาสาสมัคร ขอให้รอคณะกรรมการกลาง คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจเรื่องความปลอดภัย เรื่องมาตรฐาน จากนั้นต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยในคนต่อไป หากพร้อมแล้วถึงจะประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม การทดลองในคนจะแบ่งการทดลองรอบแรกในคนที่มีอายุ 18-55 ปี แบ่งเป็นกลุ่มละ 12 คน เพื่อหาขนาดและความปลอดภัย จากนั้นถึงจะขยับมาที่กลุ่มอายุ 65-75 ปี อีก 48 คน เพื่อดูเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ก่อนที่จะขยับไปสู่การทดลองระยะที่ 3 แต่เนื่องจากขณะนี้ มีวัคซีนหลายชนิดในโลกที่เริ่มทดลองในคน ซึ่งหลายๆ ชนิด ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันหากของเขาสำเร็จก่อน ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญของไทย ที่อาจจะข้ามการทดลองในคนในระยะที่ 3 ได้
รมว.คลัง ย้ำกับสถาบันต่างชาติ จีดีพี ปี 2564 จะกลับมาเติบโต 4-5 %
ในงาน Thailand Focus 2020 Resiliency to Move Forward ซึ่งปีนี้นำเสนอในรูปแบบ virtual conference เป็นครั้งแรกต่อนักลงทุนสถาบัน และ นักลงทุนต่างชาติทั่วโลก นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 2/2563 หดตัวลงร้อยละ 12.2 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาขยายตัวร้อยละ 4-5 ในปี 2564 ดังนั้น จึงอยากให้นักลงทุนและประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ จากนี้ไปรัฐบาลจะยังคงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐออกมาให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัว กระทรวงการคลังจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลับมาเร็ว ๆ นี้
ปธ.กมธ. ยืนยัน รับฟังทุกมุม พิจารณาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กล่าวถึง การลงมติเห็นชอบให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำ วันนี้ว่า ต้องฟังเหตุและผลของอนุกรรมาธิการแต่ละคณะ พร้อมยืนยันว่า กรรมาธิการคณะใหญ่จะดูทุกมิติในการใช้งบประมาณ ต้องดูความเหมาะสม ที่ครอบคลุม ทั้งภาวะเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 ปากท้องประชาชน รวมถึง ความมั่นคง ที่มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าปัญหาปากท้อง เพราะจะช่วยในการป้องกันภัย โดยเฉพาะน่านน้ำของไทย ที่มีทั้งอ่าวไทยและอันดามัน และประเทศเพื่อนบ้านก็มีความแข็งแกร่ง ดังนั้น การพิจารณาเรื่องเรือดำน้ำ จึงต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม และสามารถชี้แจงต่อประชาชนได้
กมธ.กฎหมาย ยุติการสอบคดี “บอส”หลังศาลออกหมายจับเพิ่มอีก 3 ข้อหา
การประชุมของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม พิจารณากรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้เชิญ พล.อ.ท.จักรกฤษณ์ ถนอมกุลบุตร พยานในคดีดังกล่าว นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้คำนวณความเร็วรถ และพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงปรากฏว่านายสายประสิทธิ์ ไม่มาชี้แจง ขณะที่ พล.ต.อ. สมยศ มีหนังสือชี้แจงมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วน พล.อ.ท.จักรกฤษณ์ ไม่มีการตอบรับใดๆ จากเอกสารเชิญ ดังนั้น คณะกรรมาธิการ จึงได้พิจารณาและมีความเห็นว่า เนื่องจากมีการออกหมายจับนายวรยุทธแล้ว 3 ข้อหา จึงสมควรหยุดการตรวจสอบในกรณีดังกล่าว และให้รอผลตรวจสอบของรัฐบาลชุดนายวิชา มหาคุณ และผลการตรวจสอบของอัยการและตำรวจ เชื่อว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป
CR:วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา