นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวแสดงความยินดีที่สนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธจะมีผลบังคับใช้ โดยเห็นว่าเป็น “บทใหม่” ของการควบคุมการค้าอาวุธที่มีมูลค่าปีละหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้มีความโปร่งใส และมีการนำไปใช้เพื่อลดความเดือดร้อน ซึ่งเขายังหวังว่าจะมีการเจรจาเพื่อป้องกันการถ่ายโอนไปให้แก่กลุ่มผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และองค์กรอาชญากรรม เนื่องจากในข้อตกลงนี้ครอบคลุมห้ามการค้าอาวุธที่เป็นการส่งเสริมอาชญากรรมสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
สนธิสัญญาฉบับนี้มี 160 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว เว้นแต่สหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ส่งออกอาวุธชั้นนำของโลก แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้คำมั่นเรื่องการลงนามข้อตกลงตั้งแต่ปี 2556 แต่ในขั้นตอนการให้สัตยาบันต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งฝ่ายรีพับลิกันที่เป็นฝ่ายค้านครองเสียงส่วนใหญ่ ส่วนประเทศผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ประเทศอื่น อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี่ และ สเปน ต่างให้สัตยาบันแล้ว ส่วนองค์กรนิรโทษกรรมสากล ก็เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกยึดมั่นในหลักการของสนธิสัญญาเช่นกัน
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ในแต่ละปีการค้าอาวุธมีมูลค่าถึง 8 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแต่นักวิเคราะห์จำนวนมากที่เชื่อว่า มูลค่าการค้าที่แท้จริงสูงกว่าตัวเลขที่สหประชาชาติคาดการณ์ไว้มาก
...F163..