หมอธีระ เตือนให้ทุกคนมีการป้องกันและระมัดระวังเสมอเพื่อป้องกันการระบาดซ้ำ

01 สิงหาคม 2563, 12:44น.


          รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อธิบายเกี่ยวกับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และการที่ยังสามารถตรวจหาเชื้อได้จากปัสสาวะ หรืออุจจาระของผู้ที่ได้รับการรักษาจนไม่พบเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หลังจากนั้นนาน 2 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนต้องระมัดระวังและป้องกันตัวอยู่เสมอ ไม่มีประเทศใดที่เปิดประตูแล้วจะรอดจากการระบาดซ้ำ


         โดยในเฟซบุ๊กระบุว่า 


"ความรู้เกี่ยวกับการแพร่เชื้อไวรัสโรค COVID-19


โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์


คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


มีคนหลังไมค์มาถาม...เห็นว่าเป็นคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน จึงขอนำมาตอบดังนี้


ตอนนี้เราทราบแล้วว่า สามารถเพาะเชื้อไวรัสที่มีชีวิตได้จากน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ปัสสาวะ อุจจาระ 


สามารถตรวจเจอสารพันธุกรรมของไวรัสได้จากน้ำนม อสุจิ เลือด น้ำตา และจากสิ่งแวดล้อมที่มีผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่


ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบัน เราคิดว่าสาเหตุหลักมักติดผ่านทางเดินหายใจ และอาจผ่านเยื่อบุตาหูคอจมูก ส่วนเรื่องการผ่านการกินนั้นไม่มีหลักฐานยืนยัน


หลังจากติดเชื้อมา จะใช้เวลาเฉลี่ย 4.5 วันก่อนที่จะมีอาการป่วย


คนที่ติดเชื้อนั้น 20% อาจไม่มีอาการ 65% อาจมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และที่เหลือจะมีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย โดยหนึ่งในสามของกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจะต้องได้รับการดูแลในหอผู้ป่วยหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ


ความรู้ ณ ปัจจุบัน เชื่อว่า คนที่ติดเชื้อนั้นจะสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงไม่มีอาการประมาณ 2.3 วัน


ช่วงเวลาที่มีโอกาสแพร่สูงสุดคือช่วง 8 วันแรกหลังจากมีอาการป่วย เพราะปริมาณไวรัสสูง


แม้จะได้รับการดูแลรักษาจนตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสจากทางเดินหายใจไม่ได้แล้ว ก็ยังพบว่าสามารถเพาะเชื้อไวรัสที่มีชีวิตจากปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยได้หลังจากนั้นถึง 2 สัปดาห์


นอกจากนี้ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถตรวจเจอสารพันธุกรรมของไวรัสได้นานถึง 6 สัปดาห์ นับจากเริ่มมีอาการป่วย


อย่างไรก็ตาม การตรวจเจอสารพันธุกรรมของไวรัส ไม่ได้แปลว่าจะสามารถแพร่เชื้อได้ เพราะอาจเป็นซากไวรัสที่ตายแล้ว ไม่เหมือนกับการเพาะเชื้อไวรัสที่มีชีวิตได้


ด้วยความรู้ในปัจจุบัน ไวรัสที่มีชีวิตสามารถตรวจเจอได้ในปัสสาวะและอุจจาระของผู้ติดเชื้อหลังได้รับการดูแลรักษาจนตรวจไม่เจอในทางเดินหายใจนานถึง 2 สัปดาห์ จึงเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระวังว่ามีโอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อได้ แม้จะกักตัว 14 วันแล้ว ด้วยสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงทั่วโลก การแง้มประตูประเทศให้มีกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เดินทางเข้ามาในประเทศจึงมีความเสี่ยงสูงมาก


ถ้าเอาตามเนื้อผ้า...4 สัปดาห์น่าจะเป็นระยะเวลาการกักตัว เฝ้าระวัง ที่เหมาะสมกว่า 2 สัปดาห์ครับ 


ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว และป้องกันตัวเองอยู่เสมอ ยังไม่มีประเทศใดเลยที่เปิดประตูแล้วจะรอดจากการระบาดซ้ำได้ หัวใจสำคัญคือ ต้องลดละเลิกนโยบายที่นำโดยกิเลส น้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ


ประเทศไทยต้องทำได้ 


ด้วยรักต่อทุกคน


อ้างอิง


1. McIntosh K et al. Coronavirus disease 2019 (COVID-19): Epidemiology, virology, and prevention. UptoDate. Accessed on 1 August 2020.


2. Jeong HW et al. Viable SARS-CoV-2 in various specimens from COVID-19 patients. Clin Microbiol Infect. 2020 Jul 22;S1198-743X(20)30427-4.


...
ข่าวทั้งหมด

X