การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ที่โรงแรมแชงกรีล่า และมีผู้นำจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีก 5 ประเทศเข้าร่วม ทั้ง ลาว พม่า เวียดนาม พม่า และ กัมพูชา ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ เปิดการประชุมในฐานะเจ้าภาพว่า ทุกประเทศในกลุ่มจีเอ็มเอสมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และมีความสามารถในการพัฒนา โดยมีภูมิศาสตร์ที่ดีในการขนส่ง รวมทั้งยังมีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างบรรยากาศการค้าและส่งเสริมการพัฒนาของแต่ละประเทศให้เข้มแข็งได้ ทั้งนี้ขอให้ทุกประเทศร่วมมือกันพัฒนาเพื่ออนาคต โดยมองข้ามความขัดแย้งในอดีต เชื่อว่าจะทำให้เกิดความก้าวหน้าร่วมกัน โดยส่วนของไทยมีแผนงานล่วงหน้า 10 ปีในการดำเนินงานในกลุ่มจีเอ็มเอส ตั้งแต่ปีค.ศ. 2012-2022 ใช้งบกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 แผนงาน ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าชายแดน ซึ่งขณะได้เริ่มพัฒนาใน5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว รวมทั้งมีแผนงานพัฒนาเส้นทางคมนาคมการขนส่งทั้งทางบกและทะเล โดยเมื่อวานได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับจีน ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟร่วมกันใน2 เส้นทาง คือ หนองคาย- มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ และขณะนี้มีอีกหลายโครงการที่จะร่วมกันพัฒนาทางคมนาคม เช่น การสร้างสะพานแม่สอด-เมียวดี และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 5 ระหว่างไทยกับลาว ส่วนการลดขั้นตอนการผ่านแดนก็เป็นอีกโครงการที่สำคัญ ซึ่งทุกประเทศต่างต้องการให้ลดกฎเกณฑ์การขนส่ง เพราะต้องการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ทั้งนี้ส่วนตัวอยากเสนอให้จัดเดินรถโดยสารระหว่างประเทศและการพัฒนาเส้นทางที่ 8 และ 12 ของไทยกับลาวด้วย ทั้งนี้ จะมีการให้สัตยาบันการลดขั้นตอนผ่านแดนในปีหน้า และได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อทำการวิจัยและซื้อขายไฟฟ้าของประเทศในกลุ่มจีเอ็มเอสร่วมกัน นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ไทยต้องการร่วมกับประเทศต่างๆและองค์กรทางการเงิน เช่น ธนาคารเอดีบี ในการเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคจีเอ็มเอส อีกทั้งต้องปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อสิทธิประโยชน์ในการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ส่วนแผนงานสุดท้ายในอนาคต 10 ปี ก็คือการร่วมมือกันบริหารสิ่งแวดล้อมและรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาความร่วมมือร่วมกันด้วย
ธีรวัฒน์