กกพ.ลดค่าเอฟที 4 เดือน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนกันยายน–ธันวาคม 2563 ลงอีก 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บค่าเอฟที -12.43 สตางค์ต่อหน่วย ที่สะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่งลดลงจากเดิมเรียกเก็บที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.63 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ถึงแม้ว่าภาวะราคาเชื้อเพลิงจะลดลง เนื่องจากวิกฤติ โควิด-19 และทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงก็ตาม แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ.ตั้งแต่วันที่ 17-23 กรกฎาคม2563 ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
คลังเยียวยากลุ่มตกหล่นอีก 146,000 ราย
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้คลังได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มตกหล่นตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ผู้ประกันตนที่เพิ่งอยู่ในระบบประกันสังคมไม่เกิน 6 เดือน และเพิ่งตกงานในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ผ่านมา หรือตกงานในช่วงที่โครงการเราไม่ทิ้งกันปิดให้ลงทะเบียนไปแล้ว จำนวนประมาณ 6 หมื่นราย โดยจะจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งส่วนนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 900 ล้านบาท
อีกกลุ่มคือผู้ประกันตนที่ได้รับเงินชดเชยไม่ถึง 5,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากได้รับค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 8,100 บาท ซึ่งเมื่อประกันสังคมคำนวณเงินชดเชยออกมา ทำให้ได้รับเงินไม่ถึง 5,000 บาท จำนวนประมาณ 86,000 ราย ซึ่งกระทรวงการคลังจะเติมวงเงินให้แต่ละรายได้รับเงินช่วยเหลือรวมเป็น 5,000 บาทต่อเดือนเช่นเดียวกับผู้ได้รับเงินเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกัน
ธปท.กังวลเงินเยียวยาจะไม่พอหากโควิด-19 หากระบาดรอบ 2
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบร้อยละ 8.1 เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขณะที่ธนาคารโลกที่คาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะติดลบร้อยละ 6.2 ต่ำสุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ทั่วโลกยังเข้าสู่การระบาดระลอก 2 แล้ว จึงคาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะลดลงต่ำที่สุด แล้วจะค่อยๆ ฟื้นตัว ซึ่งหากเกิดการระบาดโควิดรอบที่ 2 และมีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง วงเงินกู้ 1 ล้านล้านของภาครัฐอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องกู้เพิ่ม และจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะเกิน ร้อยละ 60 ต่อจีดีพี ซึ่งเกินระดับกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่จำเป็นต้องเตรียมตัวไว้
สแตนดาร์ดฯคาด ธปท.หั่นดอกเบี้ย 0.25%
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารมีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ คาดว่า ธปท. มีโอกาสพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนสิงหาคมประมาณร้อยละ 0.25 จากอัตราดอกเบี้ยฯ ปัจจุบันที่ร้อยละ 0.50 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.25
ธนาคาร คงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่หดตัวร้อยละ 5 ในปีนี้ โดยคาดว่าในไตรมาส 2/2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 13 และฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี ส่วนค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจจะแข็งกว่านั้นที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
รมว.คมนาคมประชุมอาเซียน-จีน ย้ำความร่วมมือด้านการขนส่งโลจิสติกส์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 (ASEAN and China Transport Ministers’ Special Meeting on COVID-19) ด้วยระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) และกล่าวว่าประเทศไทยมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นและลดความเปราะบาง โดยเปิดให้โลจิสติกส์ภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และห่วงโซ่อุปทานสามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะในการค้าและการขนส่งยารักษาโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าที่จำเป็นอื่น ๆ ผ่านทางการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ภายใต้มาตรการที่ได้กำหนดไว้
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังคงดำเนินมาตรการรักษาความสะอาดและการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในรอบ 2 ประชาชนเริ่มปรับตัวกับการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ โดยเฉพาะการเดินทางแบบวิถีใหม่
ประเทศไทยขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนเชื่อมั่นในการคงไว้ซึ่งมาตรการเปิดการขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและผ่านแดนของสินค้าที่จำเป็น การบริการ และประชาชน บนพื้นฐานมาตรการด้านสาธารณสุข และสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูล แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอและรวดเร็ว เพื่อสู้กับโควิด-19 เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็นและสำคัญ ทั้งยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะกระชับความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและความร่วมมือกับจีนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภายหลังการแพร่ระบาด เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ รวมทั้งความท้าทายภายในและภายนอกในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
....