รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเรื่องโรคโควิด-19 ว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด กรณีทหารอียิปต์ และ เด็กหญิงจากประเทศซูดาน เป็นกรณีที่เกิดขึ้นแล้วช่วยให้เราสามารถทราบความจริงว่า ระบบป้องกันและควบคุมโรคที่เรามีอยู่นั้น แม้จะสู้กับระลอกแรกมาได้ดี แต่ยังมีช่องโหว่อยู่มาก และอาจยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับระลอกสอง เมื่อกลุ่มประชากรมีความหลากหลายมากขึ้น รายละเอียดต่างๆย่อมต้องการการออกแบบให้เหมาะสมและเฉพาะกับแต่ละกลุ่ม เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกรณีที่เกิดขึ้น
-การคัดกรองจากต้นทาง มีโอกาสหลุดสูง แม้จะตรวจได้ผลลบก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ และยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจที่ประเทศปลายทาง พร้อมการกักตัว 14 วันและตรวจซ้ำในระยะเวลาต่อมา
-การกักตัว ต้องลงรายละเอียดถึงสถานที่ ไม่ว่าจะ VIP แค่ไหน ก็ต้องรู้ล่วงหน้าว่า คือที่ไหน ได้มาตรฐานหรือไม่ เคร่งครัดหรือเปล่า ขืนปล่อยให้มีอิสระหรือมีเอกสิทธิ์จัดการเอง ก็จะเจอปัญหาอย่างที่เราเห็นกันในครั้งนี้
-การติดตามก็สำคัญยิ่งนัก ต้องหาทางทำให้คนที่เดินทางจากต่างประเทศ ยินยอมให้รัฐทราบว่าไปพักที่ใด เดินทางไปไหนอย่างไร วันเวลาใด ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศ ทั้งนี้ต้องรู้อยู่ตลอดไม่ใช่ต้องไปค้นหากล้องวงจรปิดแบบที่ทำกันในเหตุการณ์ครั้งนี้ เรื่องแบบนี้หากต้องบังคับ ก็ต้องบังคับ เพราะเป็นเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยทุกคน
รศ.นพ.ธีระ เชื่อว่า นายกฯและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ศบค.ทำงานกันอย่างเต็มที่ และไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น แต่พอเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็คงต้องยอมรับว่า เราคงโทษชาวต่างชาติที่ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ กฎระเบียบนั้นออกมาได้ แต่หากบังคับใช้ไม่ได้ หรือไม่มีกลไกกำกับติดตามที่มีประสิทธิภาพ การแหกกฎย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และนำพาความหายนะมาสู่เราได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนตัวประเมินว่า เราประมาทเกินไปและมั่นใจในระบบเดิมมากเกินไป ผนวกด้วยการเสนอมาตรการที่ต้องรับมือทั้งศึกนอกและศึกในไปพร้อมๆ กันโดยมิได้ประเมินศักยภาพของระบบว่าจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทำให้การตัดสินใจปลดล็อกครั้งนี้มีโอกาสพลาดได้ จึงขอให้ปรับกระบวนทัพใหม่
CR:Facebook รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์