*สนช.รับหลักการภาษีมรดก160ต่อ16เสียงตั้งคณะกมธ.แปรญัตติ 15 วัน*

18 ธันวาคม 2557, 15:18น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.ที่มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ ได้อภิปรายเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีดังกล่าว เพราะ นอกจากรัฐจะมีรายได้เพิ่ม ยังจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ยังมีข้อกังวลว่า หากร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ และมีการประกาศบังคับใช้จริง กฏหมายจะเข็มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพียงพอที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีทรัพย์สินมากรวมถึงกลุ่มนายทุน หรือไม่ โดยสมาชิกเห็นว่าจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้จริงกับทุกภาคส่วนในสังคมและจากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระแรกรับร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 160 เสียง ไม่เห็นด้วย 16 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง โดยกำหนดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน แปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 90 วันส่วนความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ พรรคการเมืองและสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติหรือ สปช. ได้ให้ความเห็นและแนวทางในการปฎิรูปแล้วกว่า 272 เรื่องใน 246 ประเด็น ซึ่งสามารถแบ่งเรื่องที่นำเสนอออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ต้องบัญญัติเรื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก กลุ่มที่เป็นมาตรการทางการบริหารที่ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และกลุ่มที่ยังไม่มีข้อยุติและแนวทางที่ชัดเจน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะรู้รายละเอียดเบื้องต้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน  และจะมีการยกร่างรายมาตรานับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 โดยจะมีเอกสารที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของแต่ละมาตราชี้แจงควบคู่ไปด้วย ยืนยันว่าไม่มีรัฐธรรมนูญพิมพ์เขียวล่วงหน้า ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นแนวทางที่เปิดกว้าง ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือไม่ และในวันพรุ่งนี้ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตแนวร่วมนปช. จะเข้าให้ความเห็นและแนวทางการปฎิรูปประเทศเป็นการส่วนตัวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับนาย เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ และนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ที่จะส่งข้อสรุปความเห็นและแนวทางเบื้องต้นของทั้งสนช.และสปช.ให้กับคณะกรรมาธิการฯด้วย ทั้งนี้แนวข้อสรุปเบื้องต้นยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ถึงเดือนสิงหาคมที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ



CR:แฟ้มภาพ



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X