การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรีรชี้แจงถึงสาเหตุที่รัฐต้องการออกร่างพ.ร.บ.นี้ ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับปรุงอัตราภาษี รวมทั้งลดความเลื่อมล้ำ และนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีมรดกมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับผู้ที่มีรายได้น้อย หากมีการจัดเก็บภาษีมรดกคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ส่วนร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกมีสาระสำคัญคือ บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะต้องมีหน้าที่เสียภาษี ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ โดยมูลค่าที่ต้องเสียภาษี คือ ได้รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ทั้งนี้ระบุให้มีการยกเว้นให้สามารถลดการจัดเก็บภาษีได้ตามความสมควร และมียกเว้นมรดกบางประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีด้วย
นายมณเฑียร บุณตัน สมาชิกสนช. แสดงความเห็นด้วย แต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ส่วนตัวมองว่าควรเก็บแบบขั้นบันได และต้องทบทวนร่างพ.ร.บ.อย่างต่อเนื่อง เพราะอนาคตภาวะเงินเฟ้อจะสูงขึ้น และเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป ทำให้เงิน 50 ล้านบาทอาจมีมูลค่าน้อยลง จึงต้องมีการกำหนดเพดานของการเสียภาษี
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ เป็นห่วงว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับผู้มีอิทธิพล เพราะผู้มีอิทธิพลอาจใช้อำนาจในการเลี่ยงภาษี โดยต้องมีมาตรการที่รอบคอบและต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ขณะเดียวกันระบุว่า หลายประเทศเลิกใช้ร่างพ.ร.บ นี้แล้ว เพราะกระทบจากการลงทุนของคนต่างชาติ และมีการเลี่ยงภาษีกันมาก นายสมชาย ยังระบุว่า ควรพิจารณายกเว้นเจ้าของที่ดินการเกษตรที่ใช้ที่ดินเพื่อหารายได้ ซึ่งช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และเห็นว่าควรจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าด้วย ขณะที่นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ก็ระบุว่า ควรไปจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่า เพราะมองว่าบุคคลที่ต้องเสียภาษีนี้เคยเสียภาษีทั้งมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลมาก่อนแล้ว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเชื่อว่าการจัดเก็บนี้จะไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีระบบจัดการที่ดีพอ
ธีรวัฒน์