ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563

30 มิถุนายน 2563, 09:35น.


“สมคิด” สั่ง สสว.ขอ ครม. 50,000 ล้าน อัดฉีดสภาพคล่องเอสเอ็มอี



          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ประชุมมอบนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ช่วยเหลือผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมอบหมายให้ สสว.ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ 7 ก.ค.เพื่อขออนุมัติงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาทจากงบเยียวยา เพื่อตั้งกองทุนของ สสว.ที่จะนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ คาดว่า เงินก้อนแรกจะสามารถนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ประมาณ  500,000 ราย และรัฐบาลมีความตั้งใจว่านอกจากวงเงิน 50,000 ล้านบาทก้อนแรกแล้ว ยังจะช่วยเหลืออีก 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 100,000 ล้านบาท 



          นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.คาดว่า กองทุนจะเริ่มช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ภายใน 1 เดือนหลังจาก ครม.อนุมัติงบประมาณ สสว.จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้  ขณะที่ ธนาคารของรัฐจะทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้นี้ แต่ผู้ที่จะกู้ได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีกิจการเป็นหลักแหล่งแน่นอน วงเงินอุดหนุนแบ่งเป็น 2 ก้อน คือ 



-ก้อนแรก "เงินเติมพลังชีวิต" รายละไม่เกิน 100,000 บาท



-อีกส่วน "การเพิ่มทุน" เพื่อเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อราย



          เงื่อนไขผ่อนปรนดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี วงเงินกู้ระยะยาวผ่อนชำระ 10 ปี อัตราการผ่อนชำระหนี้เดือนละไม่ถึง 10,000 บาท โดยพิจารณาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีโอกาสและมีศักยภาพ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้าร่วมอบรมหรือพัฒนาทักษะปีละครั้งทั้งจาก สสว.หรือหน่วยงานร่วมอื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเป็นสมาชิกของภาครัฐและเอกชนอย่างใดอย่างหนึ่งภายใน 1 ปี เช่น เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หรือสมาชิกสมาพันธ์เอสเอ็มอีหรือสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ก็ได้



กรมประมง จัดวงเงินกว่า 10,000 ล้านปล่อยกู้ช่วยชาวประมง



          นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จะเปิดให้ชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์เข้าร่วม "โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง"กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ซึ่งสามารถกู้เงินไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยจ่ายเองร้อยละ 4 ต่อปี และรัฐชดเชยร้อยละ 3 ต่อปี โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้เสร็จภายในระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กู้



          รูปแบบสินเชื่อแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่



-สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ



-สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว มีธนาคารของรัฐที่เข้าร่วม 2 แห่ง ประกอบด้วย



-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยวงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาทสนับสนุนเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงิน รายละไม่เกิน 5,000,000 บาท



-ธนาคารออมสิน ปล่อยวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www4.fisheries.go.th หรือโทร. 0-2561-3353



คณะที่ปรึกษาโควิด-19 ด้านศก.เร่งแก้ปัญหาว่างงาน



          นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประชุมคณะที่ปรึกษาว่าได้สรุปประเด็นสำคัญเสนอนายกฯ เน้นแก้ปัญหาการว่างงาน สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการจ้างงานระยะยาวภายในชุมชน การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงการจัดอบรมความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ นายกฯ ส่งเรื่องดังกล่าวกลับมาที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) ในฐานะเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ให้พิจารณาโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานด้วย



ส่ง 6 ลูกเรือคนไทยกักตัว 14 วัน ไม่มีใครป่วย



          ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดระยอง (ศรชล.จังหวัดระยอง) ร่วมกับ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดระยอง ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระยอง สาธารณสุขจังหวัดระยอง และปกครองจังหวัดระยอง ตาม พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเรือและลูกเรือสินค้า ชื่อเรือ SEA STELLAR  ซึ่งเป็นเรือสัญชาติ Thailand เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น มีลูกเรือ จำนวน 18 คน (ไทย 17คน เมียนมา 1คน) และมีลูกเรือที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 6 คน ต้องการขอเดินทางกลับเข้าประเทศไทยผ่านด่านทางน้ำ เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาที่ทำไว้กับเรือ ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง



          น.ส.จินดารัตน์ โรมา หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตรวจคัดกรองลูกเรือ SEA STELLAR  จำนวน 6 คน พบว่ามีสุขภาพปกติทุกคน ไม่พบผู้ต้องสงสัยป่วยหรือมีไข้เกิน 37.3 องศา เพื่อเดินทางไปพื้นที่กักตัวเฝ้าดูอาการตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อ โควิด-19 ที่บ้านพักข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง อ.บ้านค่าย จังหวัดระยอง (Local Quarantine) จำนวน 14 วัน จึงจะอนุญาตให้เดินทางกลับยังภูมิลำเนาต่อไป



 



 

ข่าวทั้งหมด

X