พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามคำสั่ง คสช. ที่ 127/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 โดยมีรายละเอียดว่า เนื่องจาก คสช.มีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกัน ขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบ ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสาน และติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้การกำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล และผลักดันการดำเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร โดยที่มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้บัญญัติให้ในกรณีที่ คสช.เห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเรื่องใด ให้ คสช.แจ้งให้ ครม.ทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เพื่อให้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถผลักดันนโยบายในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทาง คสช. จึงมีคำสั่งดังนี้
1. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งภายใน คสช. เรียกว่า "คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ" ประกอบด้วย หัวหน้า คสช. เป็นประธานฯ , หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. เป็นรองประธานกรรมการ , ผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.ที่หัวหน้า คสช.มอบหมายให้ไม่เกิน 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้า คสช.แต่งตั้งอีกไม่เกิน 9 คน เป็นกรรมการ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ หัวหน้า คสช.อาจขอให้ ครม.มีมติให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นกรรมการและเลขานุการ
2. คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1) จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกัน และเสนอให้ ครม.ทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 2) ติดตามประสานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมาย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ 3) จัดทำผลการดำเนินการและเสนอแนะความคิดเห็นหรือกลไกการดำเนินการที่จำเป็นต่อ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือเพื่อมีมติสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ 4) จัดทำข้อเสนอแนะในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควร 5) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้การประชุมร่วมกันของ คสช.และ ครม. เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นรูปธรรมมากขึ้น 6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานตามความจำเป็น 7) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำทางวิชาการ หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น 8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่หัวหน้า คสช.มอบหมาย
3. ให้เสนอคำสั่งนี้ให้ ครม.พิจารณา เพื่อมอบหมายให้สำนักงบประมาณอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามคำสั่งนี้ และพิจารณาเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามระเบียบทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป