*กรรมาธิการเสียงข้างน้อย คัดค้านการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง*

17 ธันวาคม 2557, 17:31น.


การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. วันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ในการสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา18 คณะเพื่อเสนอต่อสปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยในการชี้แจงข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง ในช่วงเริ่มต้นที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง ได้เป็นผู้ชี้แจงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฎิรูปด้านการเมืองเสียงข้างมาก ซึ่งระบุว่าควรให้ประชาชนมีการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง  และควรระบุชื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ตามที่กฎหมายกำหนด และนายกรัฐมนตรีก็ควรทำหน้าที่บริหารอย่างเดียวโดยไม่ควรมาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ควรมีอำนาจในการยุบสภาส่วนระบบรัฐสภา ขอเสนอให้มี 2 สภา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ควรมาจากการเลือกตั้งจำนวน 350 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรมาจากการเลือกตั้งจำนวน 154 คน โดยแบ่งให้ 77 คนมากจากการเลือกตั้งในส่วนจังหวัดละหนึ่งคนและอีก 77 คน ให้มาจากการเลือกตั้งจากองค์กรวิชาชีพ ส่วนพรรคการเมืองก็ควรจะต้องมีสมาชิกพรรคในทุกภูมิภาค และการยุบพรรค จะสามารถทำได้ก็เฉพาะในกรณีที่พรรคกระทำผิดอย่างร้ายเท่านั้น ขณะที่ องค์กรอิสระก็จะต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง รวมถึงเสนอให้มีการตั้งสภาพลเมืองเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ  อย่างไรก็ตาม หลังการชี้แจงข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมืองเสียงข้างมากแล้ว  ช่วงต่อไปก็เป็นการอภิปรายของคณะกรรมาธิการปฎิรูปด้านการเมืองเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งมีทั้งหมด 7คน



เช่นนายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปช. ระบุว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีการเลือกตั้งนายรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี จะไม่สามารถขจัดการแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงได้อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงเห็นควรว่าให้นายกรัฐมนตรีควรมาจากการพรรคการเมือง และจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ด้วย หรือกลับไปใช้ในระบบเดิม



ขณะที่นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. กล่าวว่า  ระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง เป็นเรื่องที่ดีกว่าการใช้ระบบเดิมอย่างไร ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธ์ขายเสียงได้ ดังนั้นจึงเสนอให้คงระบบควบรวมอำนาจแบบเดิมไว้ เพราะเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้พรรคการเมืองก็ควรจะต้องเข้มแข็งและมั่นคง ดังนั้นส.ส. จึงควรที่จะต้องมาจากพรรคการเมืองเท่านั้น



ขณะที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. ที่พึ่งลาออกจากโฆษกคณะอนุกรรมธิการปฎิรูปการเมือง ระบุว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง เพราะวิธีนี้ไม่สามารถแก้ไขระบบอุปถัมป์ได้  ซึ่งมีมาอย่างยาวนานในเมืองไทย  ที่จะมีนายทุนใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า ซึ่งเรื่องเหล่านี้ส่วนตัวเห็นว่า ควรให้อำนาจประชาชนในการแก้ไขปัญหา โดยควรมีการเปิดพื้นที่สาธารณะ และสร้างประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาของสังคม



ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน  สมาชิกสปช. ระบุว่า ในส่วนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากนั้นก็เป็นเจตนาที่ดี  แต่อาจจะเป็นการเพิ่มปัญหาก่อนเมื่อช่วงวันที่ 22พฤษภาคม ที่มีการยึดอำนาจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่พรรคการเมือง ที่มีการผูกขาดเพียง 2พรรคเท่านั้น  ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า  ควรให้ลดการผูกขาดของพรรคการเมืองแต่ฝ่ายเดียว  และให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง มีส่วนในการเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากพรรคการเมืองด้วย  นี่จึงจะเป็นการเลือกฝ่ายบริหารของรัฐสภาอย่างแท้จริง  และถือว่าเป็นการลดอำนาจพรรคการเมืองลงด้วยเช่นกัน



วิรวินท์



 

ข่าวทั้งหมด

X