เอเอฟพี รายงานอ้างนางมาเรีย วากาโตวา จากกลุ่มบริษัทวัตคอม ที่ปรึกษาด้านตลาดอุปโภคบริโภคและนายอิกอร์ นิโคลาเยฟ ประธานสถาบันวิเคราะห์เอฟบีเค ของรัสเซีย ว่า ชาวรัสเซียเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบจากการอ่อนตัวลงของค่าเงินรูเบิล แต่ผลตรงข้ามอีกอย่างหนึ่งคือ กระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นในระยะนี้ ผู้บริโภคที่มีเงินออมเริ่มออกไปจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้นในระยะนี้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวีจอแบน แทปเล็ต คอมพิวเตอร์โน๊ตบุค เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องครัวและรถยนต์ เนื่องจากต้องการจะซื้อสินค้าในราคาถูก ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเริ่มปรับขึ้นราคาสูงกว่าเดิม ตามต้นทุนการนำเข้าที่แพงขึ้น
กลยุทธ์การจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงที่ประเทศกำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นลักษณะเฉพาะของรัสเซียที่แตกต่างจากชาติตะวันตก ระบุว่าในรัสเซียนั้น ทุกครั้งที่เริ่มประสบวิกฤติเศรษฐกิจ สิ่งที่จะตามมาคือ ค่าเงินรูเบิลจะดิ่งลงหนัก ประชาชนจะเริ่มออกไปจับจ่ายซื้อของทันที พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพอยู่ในระดับหนึ่ง
แต่ในภาพรวม อำนาจการใช้จ่ายของชาวรัสเซียลดลงพร้อมกับค่าเงินรูเบิล โดยในสัปดาห์นี้ เงินรูเบิลดิ่งค่าลงทำสถิติใหม่เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯและอ่อนค่าลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินยูโร สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบลดลงและมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและชาติตะวันตก ก่อนหน้านี้่ ธนาคารกลางรัสเซียเตือนว่า เศรษฐกิจรัสเซียอาจจะอ่อนตัวลงร้อยละ 5 ในปีหน้า ถ้าหากราคาน้ำมันดิบทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไป กระทบการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างหนัก เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้หลักจากการค้าน้ำมัน