การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงโครงการวิจัยภาวะภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโควิด-19 และความเสี่ยงในคนไทยว่า การพิชิตศึกโควิด-19 ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือ การรอคอยวัคซีน คาดว่าอย่างเร็วสุดประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งเวลานี้มีแนวโน้มที่ดีในการผลิต เพราะอยู่ในช่วงการทดลองกับลิง ส่วนการทดลองกับมนุษย์ จะสามารถทดลองได้ปลายปีนี้ แต่ในวันนี้เราไม่ได้หยุดรอแค่วัคซีน แต่ทุกส่วนพยายามวิจัยในแต่ละเรื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะให้ทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ เพื่อศึกษาวิจัยว่าคนที่หายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันติดตัว ทำให้ไม่กลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ และมีระยะเวลายาวนานเท่าใด ซึ่งขณะนี้ เรามีผู้ติดเชื้อที่หายแล้วประมาณ 3,000 กว่าคน และเสียสละให้วิจัยเรื่องภูมิคุ้มกันเป็นข้อมูลสำหรับคนทั้งโลก หากพบว่าคนที่เป็นแล้วมีภูมิคุ้มกันก็จะเป็นประโยชน์ นับว่า บุคคลที่หายป่วยเป็นฮีโร่ที่มาทดลองวิจัยในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน สธ.ได้มอบหมายให้ตัวแทนจากกรมอนามัย หน่วยงานในสังกัด สธ.ไปเจรจากับประเทศจีนและอังกฤษ ที่พยายามจะผลิตวัคซีนโควิด-19 อยู่ว่าหากผลิตสำเร็จและสามารถนำมาใช้ในการรักษาได้จริง ประเทศไทยจะขอซื้อวัคซีนเป็นล็อตแรกๆ เพราะเราต้องการให้สถานการณ์ของโควิด-19 กลับสู่ภาวะปกติอย่างเร็วที่สุด
ขณะที่ นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้จะอธิบายสมมุติฐานที่ว่าคนติดเชื้อโควิด-19 สามารถมีภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ อยู่นานเท่าไรและภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ เพราะภูมิคุ้มกันมีหลายแบบทั้งที่ปกป้องเชื้อไวรัสได้ และป้องกันได้ตลอดชีวิต รวมถึงภูมิคุ้มกันที่ป้องกันได้ แต่จะหายไปในระยะเวลาไม่นานนัก
นอกจากนี้ โครงการนี้เราจะศึกษาผู้ติดเชื้อว่าที่หายได้เป็นเพราะอะไร มีแอนติบอดี้ คือ โปรตีนในร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อต่างๆในเม็ดเลือดขาวอย่างไร และศึกษาคนใกล้ชิดที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ กลุ่มคนนี้มีความสำคัญที่จะบอกให้เราทราบว่าเขาใช้ภูมิคุ้มกันอะไรป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ในระยะแรกรับ จะเปิดรับอาสาสมัคร 500 คนจากกลุ่มคนที่หายแล้ว ให้มาบริจาคเลือดเพื่อดูว่าในเลือดมีภูมิคุ้มกันอะไรบ้างและมีคุณภาพอย่างไร จากนั้นจะติดตามต่อไปว่าผู้มีภูมิสามารถติดเชื้อได้หรือไม่ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครและผู้ใกล้ชิด เพื่อช่วยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อปรับปรุงคุณภาพวัคซีนให้ดีขึ้น