กมธ.พาณิชย์ เสนอแนวทางช่วยเกษตรกร/ลดเหลื่อมล้ำต่อสปช.
519
https://www.js100.com/en/site/news/view/8843
COPY
16 ธันวาคม 2557, 00:02น.
การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือสปช.ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ. นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการได้อภิปรายถึงปัญหาที่พบว่า ประเทศยังมีปัญหาในการยกระดับทางเศรษฐกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่หลายด้าน เช่น ภาครัฐไม่มีมาตรการและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการช่วยเหลือ และมาตรการจากผลตอบแทนในโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ รวมทั้งความสามารถของเอกชนในสินค้าและบริการต่ำ ไม่สามารถแข่งขันได้เท่ากับประเทศอื่นๆ จึงทำให้ราคาของสินค้าต่ำไปด้วย และแม้ผลสำรวจสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าคนจนลดลงกว่าร้อยละ 12 แต่ก็พบรายได้ของประชาชนยังแตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือจากระบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาจากภายนอกประเทศที่พบ เช่น การเปิดการค้าเสรีและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่ำลง
ขณะที่แนวทางปฎิรูป คณะกรรมาธิการเสนอให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เกษตร และการท่องเที่ยว โดยเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแลภาคเอกชนและบัญญัติให้การส่งเสริมการเกษตร อุตสาหกรรมต้องเป็นแนนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และรัฐบาลต้องสนับสนุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีการบัญญัติมาตรการช่วยเหลือไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องแก้ไขให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการได้เท่าเทียมจากทุกส่วนในประเทศ รวมทั้งต้องปฎิรูประบบการจัดเก็บภาษีใหม่ทั้งหมด เชื่อว่าหากมีการจัดเก็บภาษีอย่างถูกวิธีในอัตราก้าวหน้าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้ และรัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมกว่า 3 ล้านราย ที่คณะกรรมาธิการเชื่อว่าเป็นตัวแทนภาคเอกชนที่มีผลสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศ พร้อมทั้งต้องนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน ขณะเดียวกันต้องมีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้เอื้อต่อการเข้าถึงสวัสดิการและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม พร้อมกันนี้ระบุว่า ต้องมีการพัฒนาด้านการศึกษา การคมนาคม การเงินการคลังไปพร้อมกัน เพราะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการดำเนินงาน
ส่วนสมาชิกสปช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการปฎิรูปของคณะกรรมาธิการและการนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ แต่ก็มีการเสนอให้มีร่างกฎหมายที่เเก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และให้รัฐบาลส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยต้องมีมาตรการการส่งออก และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน โดยการผลักดันให้การส่งออกและการพัฒนาการเกษตรเป็นวาระแห่งชาติด้วยและในพรุ่งนี้ที่ประชุมสปช.จะมีวาระการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาอีก 7 คณะ โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30น.
ข่าวทั้งหมด